สหรัฐฯ ทดลองนิวเคลียร์ฟิวชันให้คุ้มทุนได้อีกแล้ว !
นักวิจัยในสหรัฐฯ สามารถทดลองสร้างพลังงานจากกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) ให้คุ้มทุนการผลิตได้เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากครั้งแรกในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
นักวิจัยในสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการทดลองสร้างพลังงานจากกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) ซึ่งเป็นการหลอมรวมอะตอมของธาตุไฮโดรเจน ทำให้เกิดแก๊สฮีเลียมและพลังงานมหาศาล ที่สามารถนำไปสร้างไฟฟ้าได้โดยไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง หลังครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาและเป็นครั้งแรกของโลกด้วย
การทดลองทำนิวเคลียร์ฟิวชันให้คุ้มทุนเป็นครั้งที่ 2
การทดลองดังกล่าว เคยเกิดขึ้นแล้วในเดือนธันวาคม ซึ่งตอนนั้นได้ยิงเลเซอร์เข้าไป 2.05 เมกะจูล (MJ) หรือใกล้เคียงกับพลังงานที่หม้อหุงข้าวใช้ใน 1 ชั่วโมง และได้พลังงานออกมา 3.15 เมกะจูล
และในการทดลองครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักวิจัยได้ทำในกระบวนการเดียวกัน คือยิงเลเซอร์หลอมละลายอะตอมเพื่อให้พลังงานสร้างนิวเคลียร์ฟิวชัน หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ พบว่าพลังงานที่นิวเคลียร์ฟิวชันปล่อยออกมามีค่าเยอะกว่าพลังงานที่เลเซอร์ยิงเข้าไป แต่ยังไม่มีการแถลงตัวเลขของการทดลองครั้งนี้ อย่างเป็นทางการออกมา
การพัฒนานิวเคลียร์ฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาด
โดยสรุปแล้ว การพัฒนานิวเคลียร์ฟิวชันให้คุ้มทุนของห้องวิจัยที่ทำงานภายใต้กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา อาศัยพื้นฐานจากการจัดการประสิทธิภาพของพลังงานด้วยแสงเลเซอร์ที่ใช้ทำให้อะตอมธาตุไฮโดรเจนอยู่ในสภาพที่เกิดการหลอมรวมตามหลักนิวเคลียร์ฟิวชัน
แต่ในขณะเดียวกัน สตาร์ตอัปที่ชื่อว่าทีเออี เทคโนโลยี (TAE Technologies) ได้พัฒนากระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชันที่ไม่ได้เน้นกระบวนการให้พลังงานแบบที่กระทรวงพลังงานทำ แต่เป็นการเปลี่ยนคู่ธาตุที่ใช้กับไฮโดรเจนจากเดิมที่ใช้ธาตุทริเทียมซึ่งมีต้นทุนสูง ให้เป็นธาตุที่ชื่อว่าโบรอนซึ่งมีต้นทุนต่ำอยู่ในปัจุจุบัน ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้คุ้มทุนได้จริงในอนาคต
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหนทางใดก็ตาม เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ล้วนพยายามทำให้นิวเคลียร์ฟิวชันนั้นเกิดขึ้นจริงบนโลก เฉกเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ แหล่งพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันที่เกิดขึ้นจริงนับตั้งแต่เกิดระบบสุริยะขึ้นมา
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67