คอนเสิร์ต "TAYLOR SWIFT" เต้นสนั่นจนสร้างแผ่นดินไหวขนาด 2.3
แฟนเพลงของสาวเทย์เลอร์สวิฟต์ในเมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกาสร้างตำนานใหม่ ด้วยการทั้งร้องทั้งเต้น กระโดดไปตามจังหวะเพลงในคอนเสิร์ต จนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าแผ่นดินไหวขึ้นมา
ดูท่าว่าแฟน ๆ ของศิลปินสาว เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) จะพลังงานเหลือล้นกันจริง ๆ เมื่อล่าสุดในคอนเสิร์ต เอราส์ ทัวร์ (Eras Tour) ซึ่งจัดที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา แฟน ๆ ที่มาร่วมคอนเสิร์ตนี้ทั้งร้อง ทั้งเต้นกันสนั่น จนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่เทียบเท่าแผ่นดินไหวขนาด 2.3 ขึ้นมา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่สนามลูเมน ฟิลด์ (Lumen Field) ซึ่งใช้เป็นที่จัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ โดยมีรายงานว่าบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตขายหมดเกลี้ยง และมีบรรดาสวิฟตี้ (Swifties) หรือกลุ่มแฟนเพลงของสาวเทย์เลอร์ เข้าชมคอนเสิร์ตมากถึงราว 72,000 คน
โดย แจ็คกี้ คัปเลน เอาเออร์บาค (Jackie Caplan-Auerbach) นักแผ่นดินไหววิทยาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นวอชิงตัน (Western Washington University) ซึ่งเป็นผู้รายงานการเกิดแผ่นดินไหวนี้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่า เธอได้บันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวของคอนเสิร์ตจากเครื่องวัดแผ่นดินไหว ที่ตั้งอยู่ถัดจากสนามลูเมน ฟิลด์
จากข้อมูลพบว่ามีจังหวะการสั่นสะเทือนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งสัมพันธ์กับวันจัดคอนเสิร์ต และรายการแสดงเพลงของศิลปินจากทั้ง 2 คืน และถึงแม้จะมีหนึ่งวันที่คอนเสิร์ตเริ่มช้าไป 26 นาที แต่พอเอาข้อมูลมาวางซ้อนกันแล้ว เธอสังเกตเห็นว่ามันมีรูปแบบสัญญาณการสั่นสะเทือนแบบเดียวกันอย่างชัดเจน ทำให้อนุมานได้ว่าแรงสั่นสะเทือนนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์จริง ๆ
โดยลักษณะของการสั่นสะเทือน จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งเวลาการคอนเสิร์ต ที่กินเวลาแสดงประมาณสามชั่วโมงครึ่ง และการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ที่สุด จะเกิดขึ้นระหว่างการแสดงเพลง Shake It Off และ Blank Space ซึ่งเป็นสองเพลงโปรดของแฟน ๆ นั่นเอง
ซึ่งเหตุการณ์การสั่นสะเทือนจากเสียงเชียร์ และการเต้นสนั่นเมืองของแฟนคลับนี้ ได้ชื่อเล่นจากนักแผ่นดินไหววิทยาว่า สวิฟต์ เควก (Swift Quake) ซึ่งทางตัวศิลปินอย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์เอง ก็รับรู้ได้ถึงการมีส่วนร่วมของแฟน ๆ ที่สนุกสุดเหวี่ยงนี้เช่นกัน โดยเธอได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมว่า ขอบคุณแฟน ๆ ที่ร่วมเชียร์ กรี๊ด กระโดด เต้น และร้องเพลงไปกับเธออย่างเต็มที่อีกด้วย
อย่างไรก็ตามตอนนี้นักแผ่นดินไหววิทยา ยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น เกิดจากคลื่นเสียงจากเสียงเบส ลำโพงซับวูฟเฟอร์ (subwoofers) การกระโดดของแฟน ๆ หรือปัจจัยหลายอย่างรวมกัน
เธอจึงได้ขอให้แฟนเพลงที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตในซีแอตเทิล แบ่งปันวิดีโอที่บันทึกการแสดง เพื่อให้ทีมงานสามารถเข้าใจเหตุการณ์นี้ได้ถูกต้องมากขึ้น และเตรียมจะศึกษาเกี่ยวกับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากคอนเสิร์ตต่อไปในคอนเสิร์ตของศิลปินสุดร้อนแรง บียอนเซ่ (Beyoncé) ที่จะมาจัดในสนามลูเมน ฟิลด์ ในเดือนกันยายนนี้
ข้อมูลจาก indianexpress, globalnews, edition.cnn
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67