MIT สร้างเครื่องมือป้องกัน ไม่ให้ AI นำรูปภาพไปปลอมแปลง
ในยุคที่เอไอ (AI) สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอัศจรรย์ แต่นั่นก็อาจจะเป็นดาบสองคม ถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ ทีมนักวิจัยจากเอ็มไอที (MIT) จึงได้สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า “โฟโต้การ์ด (Photoguard)” ขึ้นมา เพื่อป้องกันการนำภาพไปตัดต่อด้วยปัญญาประดิษฐ์
นี่คือเครื่องมือที่มีชื่อว่า “โฟโต้การ์ด (Photoguard)” ซึ่งเป็นเครื่องมือป้องกันรูปภาพไม่ให้ถูกนำไปใช้ตัดต่อด้วยเครื่องมือเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ โดยเป็นผลงานของทีมนักวิจัยจากเอ็มไอที (MIT) หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
โฟโต้การ์ด (Photoguard) เครื่องมือป้องกันเอไอ (AI)
โดยวิธีการของโฟโต้การ์ดจะเลือกปรับเปลี่ยนพิกเซลในลักษณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถตรวจจับและอ่านการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่มนุษย์จะยังมองเห็นรูปภาพได้เหมือนเดิม แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลง กลยุทธ์นี้ป้องกันอัลกอริทึมของเอไอ (AI) จากการทำความเข้าใจและสร้างภาพซ้ำอย่างถูกต้อง
เมื่อภาพที่ใช้โฟโต้การ์ดเป็นเกราะกำบัง เอไอจะไม่สามารถประมวลผลพิกเซลของภาพได้ ส่งผลให้มันไม่สามารถดัดแปลงรูปภาพได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปใช้งานโปรแกรมโฟโต้การ์ดได้ทางเว็บไซต์กิตฮับ (GitHub) ที่เป็นเว็บไซต์สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์
ตัวอย่างการใช้งานโฟโต้การ์ด
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน มีการยกตัวอย่างจากทีมงาน ใช้โฟโต้การ์ดบนโพสต์อินสตาแกรม (Instagram) ของเทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah) และไมเคิล คอสต้า (Michael Kosta) ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายระหว่างรับชมการแข่งขันเทนนิส โดยทีมงานได้ใช้เอไอเพื่อปรับเปลี่ยนภาพและทำให้ทั้ง 2 คน ดูเหมือนกำลังเต้นรำกันอยู่ในชุดทักซิโด้ แต่เมื่อนำโฟโต้การ์ดมาใช้กับรูปภาพนั้น ปรากฏว่าเอไอไม่สามารถประมวลผลและตัดต่อภาพได้
อย่างไรก็ตาม โปรแกรมนี้ยังมีข้อจำกัด เพราะจุดเด่นของเอไอ มันจะฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ หากมีการเรียนรู้ซ้ำ ๆ ซึ่งรูปภาพที่ถูกปรับเปลี่ยนพิกเซลโดยโฟโต้การ์ดอาจถูกเอไอนำไปวิเคราะห์เพื่อดัดแปลงภาพได้ หากมีการนำกระบวนการย้อนกลับมาใช้กับภาพ ก่อนนำไปให้เอไอวิเคราะห์ เช่น การเพิ่มสัญญาณรบกวนดิจิทัล, การครอบตัด หรือการพลิกภาพ
แต่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มงานให้กับมิจฉาชีพไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งทีมนักวิจัยมีเป้าหมายที่จะนำหน้ามิจฉาชีพอย่างน้อยหนึ่งก้าว ทั้งนี้นักวิจัยยังคงไม่หยุดนิ่งและมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้การโจรกรรมและปลอมแปลงข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นไปได้ยากขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลจาก DesignTaxi
ภาพจาก Github
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67