ประเทศไหน ? จะนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ สำเร็จเป็นลำดับที่ 4
ประเทศไหนจะนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ สำเร็จเป็นลำดับที่ 4 หลังจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และประเทศจีนทำสำเร็จมาแล้ว
ปัจจุบันดวงจันทร์กลายเป็นจุดหมายของการสำรวจอวกาศและการตั้งสถานีสำรวจระยะยาวนอกโลกของมนุษย์ โดยหลายประเทศกำลังพัฒนาและส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นชาติลำดับที่ 4 ที่นำยานอวกาศแบบไร้มนุษย์ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้สหภาพโซเวียตสามารถนำยานอวกาศ Luna 9 แบบไร้นักบินอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1966 ต่อมาสหรัฐอเมริกานำยานอวกาศ Surveyor 1 แบบไร้นักบินอวกาศลงจอดสำเร็จในวันที่ 2 มิถุนายน 1966 และประเทศล่าสุด คือ จีนนำยานอวกาศ Chang'e 3 ลงจอดได้สำเร็จในวันที่ 15 ธันวาคม 2013
1. อินเดียส่งยานอวกาศ Chandrayaan-3 ออกเดินทางจากโลก 14 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมาด้วยจรวดขนส่งอวกาศ LVM3 ยานอวกาศมีกำหนดการลงจอดบนดวงจันทร์ 23 สิงหาคม 2023 โดยภายในยานอวกาศอินเดียได้ติดตั้งรถหุ่นยนต์สำรวจปรายัน (Pragyan) เพื่อลงวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนหน้านี้อินเดียเคยพยายามนำยานอวกาศ Chandrayaan-2 ลงจอดในปี 2019 มาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
2. รัสเซียเตรียมส่งยาน Luna 25 ออกเดินทางจากโลก 10 สิงหาคม 2023 โดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ Soyuz-2 ยานมีกำหนดการลงจอดบนดวงจันทร์ในช่วงเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตามยังต้องรอการประกาศ (TBD) กำหนดการส่งยานอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
3. ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแผนการนำยาน SLIM ลงจอดบนดวงจันทร์ ยานอวกาศลำนี้ออกเดินทางจากโลก 26 สิงหาคม 2023 โดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ H-IIA กำหนดการลงจอดบนดวงจันทร์ รอการประกาศ (TBD) ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นพยายามนำยานอวกาศฮาคุโตะ-อาร์ (Hakuto-R) ลงจอดบนดวงจันทร์มาแล้วในวันที่ 20 มีนาคม 2023 แต่ภารกิจไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากอินเดีย รัสเซียและญี่ปุ่น ปัจจุบันมีประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย อิสราเอล อังกฤษและเกาหลีใต้ ต่างมีเป้าหมายส่งยานอวกาศแบบไร้มนุษย์ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าในปัจจุบันการนำยานอวกาศลงจอดจะไม่ได้มีความหมายถึงการครอบครองพื้นผิวดวงจันทร์ในบริเวณดังกล่าว แต่อาจเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาอีกมากมาย
ที่มาของข้อมูล ISRO, ispace-inc, spaceref.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67