Twitter รีแบรนด์เป็น X จุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งบริษัทและอีลอน มัสก์
Twitter รีแบรนด์เป็น X จุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งบริษัทและอีลอน มัสก์ ท่ามกลางบริษัทที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก
กระแสข่าวการรีแบรนด์ของบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ไปสู่ชื่อใหม่ที่ใช้ชื่อตัวอักษรสั้น ๆ ว่า "X" กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการโซเชียลมีเดียอยู่ในขณะนี้ การรีแบรนด์ในครั้งนี้ถูกจับตามมอง เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับบริษัททวิตเตอร์ (Twitter) ทั้งจากรายได้ของบริษัทที่ลดลง การปลดพนักงานที่ตามมาด้วยคดีการฟ้องร้องต่าง ๆ มากมาย
การเข้าซื้อกิจการบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ของอีลอน มัสก์ ในช่วงปี 2022 นั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่การรักษาบริษัทให้อยู่รอดและแข่งขันในตลาดโซเชียลมีเดียที่มีบริษัท เมตา (Meta) ของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ไม่ค่อยยินดีต้อนรับการมาถึงของอีลอน มัสก์ สักเท่าไหร่นัก การรีแบรนด์ในครั้งนี้ จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดของบริษัททวิตเตอร์ และชีวิตการทำงานของอีลอน มัสก์ก็เป็นไปได้
การรีแบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่ายผู้ใช้งานอาจสับสน
การรีแบรนด์ (Rebranding) หนึ่งในช่วงเวลาที่ยากสำหรับบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากเป็นการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูใหม่ขึ้น ในกรณีของบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) อีลอน มัสก์ เลือกที่จะเปลี่ยนจากภาพ "นก" ซึ่งเป็นตัวแทนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามแนวคิดของบริษัท ก่อนการถูกซื้อกิจการโดยอีลอน มัสก์ ให้กลายเป็นภาพของตัวอักษร "X" ในภาษาอังกฤษที่มีลักษณะที่ค่อนข้างแข็งแรงและมีความเป็นโลกไซเบอร์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรีแบรนด์สิ่งที่ตามมาเป็นลำดับแรก ๆ คือ งบประมาณจำนวนมหาศาลในการประชาสัมพันธ์ เช่น โลโก้ เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บทความข่าวสาร วิดีโอ ข้อความข่าวสารต่าง ๆ ที่จะต้องถูกส่งไปยังผู้ใช้งานปัจจุบันของทวิตเตอร์มากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก รวมไปถึงการโปรโมทเพื่อสร้างผู้ใช้งานกลุ่มใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายหากบริษัททวิตเตอร์ อยู่ในสภาวะขาดทุนอยู่
ทวิตเตอร์ (Twitter) บริษัทใหม่ของอีลอน มัสก์ ยังขาดทุน
ในช่วงปี 2022 ก่อนการนำบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา อีลอน มัสก์ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่าบริษัทกำลังอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างหนักถึงวันละ 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 150 ล้านบาท รวมไปถึงจำนวนหนี้ก้อนมหาศาลมากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 448,701 บาท ซึ่งอีลอน มัสก์กู้มาใช้ทำธุรกิจจากธนาคารต่าง ๆ ทำให้อีลอน มัสก์ ต้องประกาศว่าเขาจำเป็นต้องปลดพนักงานออกประมาณ 50% เป็นอย่างน้อยจากจำนวนพนักงานชุดเดิม 7,500 คน เพื่อรับมือกับการขาดทุนดังกล่าว
การนำบริษัท ทวิตเตอร์ ออกจากตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในวิธีการที่อีลอน มัสก์ เชื่อว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนองค์กรได้รวดเร็วขึ้น นั่นหมายถึงการผ่าตัดครั้งใหญ่และกวาดล้างพนักงานชุดเดิมออกจากบริษัทเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็เปิดรับพนักงานชุดใหม่เข้าสู่บริษัท นอกจากนี้การนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นทำให้ตัวเลขทางการเงินของบริษัทไม่ถูกเปิดเผยออกมามากนัก โดยนักวิเคราะห์คาดว่ารายได้ของบริษัทลดลงมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน จนนำไปสู่การค้างค่าเช่าสำนักงานและขายแม้กระทั่งเครื่องชงกาแฟของบริษัทในช่วงต้นปี 2023
ปัญหาที่รออยู่เมื่อ "X" เป็นเครื่องหมายการค้าของ Microsoft
รายงานจากสื่อต่างประเทศระบุว่าตัวอักษร "X" ถูกจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัท ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีอีกแห่งของสหรัฐอเมริกา โดยการเปิดเผยของอันเดรส กัวดามุซ (Andres Guadamuz) อาจารย์ด้านกฎหมายทางทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ (University of Sussex) ซึ่งอาจสร้างปัญหาหนักใจให้กับทีมงานกฎหมายของอีลอน มัสก์ ได้ในอนาคตและการฟ้องร้องเกี่ยวกับแบรนด์หรือชื่อบริษัทมักเป็นคดีความที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการตัดสินคดี
นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านชื่อเรียกของบริษัท เนื่องจากคำว่า "X" ถูกนำไปใช้เป็นชื่อบริษัทและบริการต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วโลกจำนวนมาก เช่น บริษัท X.Company ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดรนบิน นอกจากนี้ยังเกิดกระแสบนโซเชียลมีเดียที่พบว่ามีโลโก้ของแบรนด์ต่าง ๆ มากมายที่ใช้ตัวอักษร "X" เช่นเดียวกัน รวมไปถึงกระแสการแซวหยอกล้ออีลอน มัสก์ ที่มักชอบมีอักษร "X" เข้ามาอยู่ในชีวิตและชื่อบริษัท เช่น SpaceX ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีอวกาศที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง
คู่แข่ง Meta เปิดตัว Threads
การเปิดตัวบริการ Threads ของบริษัท เมตา (Meta) ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีโดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน อย่างรวดเร็ว แม้ว่าหลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกตว่าความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากบริการ Threads ใช้วิธีเชื่อมต่อบัญชีผู้ใช้งาน Instagram ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลกอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
บริการ Threads ของบริษัท เมตา (Meta) ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีฟีเชอร์การใช้งานที่คล้ายกับ ทวิตเตอร์ (Twitter) จนทำให้อีลอน มัสก์ ขู่ว่าจะฟ้องร้องบริษัท เมตา (Meta) ของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เนื่องจากเลียนแบบบริการของทวิตเตอร์ (Twitter) อย่างตั้งใจ และนี่อาจกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่ท้าชกต่อยมวยกรง (MMA) กันบนโลกออนไลน์
นอกจากนี้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัท เมตา (Meta) ยังมีการโพสต์ทวีตภาพแซวทางฝ่ายอีลอน มัสก์ เพื่อสื่อถึงความเหมือนกันของบริการ Threads และ Twitter รวมไปถึงการส่งสัญญาณว่านับจากนี้การกลับมาเติบโตของ Twitter นั้นไม่ง่ายและมีบริการ Threads เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งรายสำคัญ
เป้าหมายของ "X" สู่การเป็น Super App ไม่ง่าย
เป้าหมายที่แท้จริงของการรีแบรนด์ Twitter ไปสู่การเป็น Super App ถูกเปิดเผยออกมาจากในวันประชุมทีมงานครั้งแรก ๆ ของอีลอน มัสก์ โดยเขาได้กล่าวกับทีมงานว่าตนเองมีความชื่นชอบในบริการของแอปพลิเคชันหนึ่งจากประเทศจีนเป็นอย่างมาก โดยมันเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถโพสต์ข้อความ คลิปวิดีโอสั้นและจ่ายเงินให้รายได้ให้กับผู้สร้างคลิปวิดีโอสั้น เพลง ดนตรี รวมไปถึงการชำระเงินและขายสินค้า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชันเดียวหรือที่เรียกว่า Super App
แนวคิดดังกล่าวแม้ว่าน่าสนใจและอาจนำบริการ X เข้าถึงแหล่งเงินและรายได้จำนวนมหาศาล แต่มันค่อนข้างแตกต่างจากแนวคิดของบริการ ทวิตเตอร์ (Twitter) แบบดั้งเดิมที่ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งรวมของผู้ที่ชอบการโพสต์ข้อความสั้นหรืออัปเดตข่าวสารที่รวดเร็ว กล่าวกันว่าการทวีตข้อความและส่งข่าวสารบนทวิตเตอร์มีความรวดเร็วมากกว่าการรายงานผลการแข่งขันฟุตบอลผ่านทางหน้าจอทีวี รวมไปถึงเรื่องติดตลกที่ว่าทวิตเตอร์รายงานแผ่นดินไหวได้ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริง ๆ เสียอีก สะท้อนความแข็งแกร่งและพฤติกรรมผู้ใช้งานเดิมมากกว่า 400 ล้านคน ทั่วโลกที่ต้องเปลี่ยนมาใช้บริการอื่น ๆ ที่ไม่คุ้นชินและถูกเสริมเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67