Reliable Robotics ได้รับอนุมัติจาก FAA ทดสอบระบบการบินอัตโนมัติเต็มรูปแบบ
ต่อไปในอนาคตเราอาจจะได้นั่งเครื่องบินโดยสารที่ไม่มีนักบินอยู่บนเครื่องเลยก็เป็นได้ เมื่อสตาร์ตอัปในสหรัฐฯ พัฒนาระบบควบคุมอากาศยานแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ที่สามารถควบคุมได้ตั้งแต่ตอนที่เครื่องแล่นไปตามรันเวย์จากสนามบินต้นทาง ยันลงจอดที่สนามบินปลายทาง โดยมองว่าจะเข้ามาช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น
รีไลเอเบิล โรโบติกส์ (Reliable Robotics) สตาร์ตอัปจากย่านซิลิคอน วัลเลย์ ศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ได้รับอนุญาตจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ FAA (Federal Aviation Administration) ให้ดำเนินการตามแผนการทดสอบระบบการบินอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจจะปูทางไปสู่อนาคตของการใช้เครื่องบินเชิงพาณิชย์แบบไร้คนขับ
โดยระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้น จะช่วยให้ผู้ควบคุม สามารถบังคับการบินของอากาศยานต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เริ่มขึ้นบินจนถึงลงจอด สามารถบินขึ้น เดินทางระยะไกล และลงจอดได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้นักบินที่เป็นมนุษย์ควบคุม ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะช่วยให้การขนส่งทางอากาศปลอดภัยขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น และมีราคาที่ย่อมเยาสำหรับทุกคน
โดยในเดือนมิถุนายน ปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการสาธิตการลงจอดอัตโนมัติของเครื่องบิน เซสนา สองศูนย์แปด คาร์โกมาสเตอร์ (Cessna 208 Cargomaster) ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากการทดสอบระบบกับเครื่องบิน เซสนา หนึ่งเจ็ดสอง สกายฮอว์ก (Cessna 172 Skyhawk) ความสำเร็จทั้งสองครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสามารถของระบบควบคุมอากาศยาน ที่สามารถนำไปติดตั้งบนเครื่องบินอื่น ๆ ได้
โรเบิร์ต โรส (Robert Rose) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทกล่าวว่า บริษัทน่าจะใช้เวลาประมาณอีก 3-4 ปี ในการพัฒนาระบบให้สามารถบังคับเครื่องบินเหล่านี้จากระยะไกล ในขนาดและความห่างที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายในการให้บริการระบบควบคุมอากาศยานอัตโนมัติกับบริษัทอื่น ๆ รวมทั้งการใช้งานด้านการขนส่งสินค้าและการทหาร
โดยมีรายงานว่ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ (The U.S. Department of Defense) ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรในการพัฒนาระบบนี้ ก็สนใจที่จะติดตั้งระบบของบริษัทลงบนเครื่องบิน เคซี-หนึ่งสามห้า (KC-135) ซึ่งเป็นเครื่องบินสำหรับเติมน้ำมันและขนส่งสินค้าด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมี นาซา (NASA) ที่ตอนนี้ยังคงทำงานร่วมกับทีมวิศวกรของบริษัท ในการวิจัยและพัฒนาระบบการเคลื่อนที่ทางอากาศขั้นสูง และข้อมูลจากการทดสอบดังกล่าว จะถูกใช้เพื่อประเมินขั้นตอนเส้นทางการบินสำหรับเครื่องบินในอนาคต
ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม ปี 2021 บริษัทสามารถระดุมทุนจากนักลงทุนเป็นเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ประมาณ 3,430 ล้านบาท และบริษัทตั้งเป้าว่าอยากเห็นระบบการบินอัตโนมัติ สามารถไปติดตั้งบนเครื่องบินโดยสารได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้
ข้อมูลจาก reuters, tnnthailand, militaryembedded, businesswire
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67