โรงเลี้ยงม้าแห่งยุค ขึ้นแท่นสิ่งปลูกสร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติใหญ่สุดในโลก
สุดว้าว ! โรงเลี้ยงม้าจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นแท่นเป็นสิ่งปลูกสร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว !
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานสุดว้าวของวงการก่อสร้างที่มีการนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไปใช้ เมื่อบริษัทเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับงานก่อสร้างจากสหรัฐฯ อย่าง ปริ้นท์ ฟาร์ม (Print Farm) ได้สร้างโรงเลี้ยงม้าขึ้นมาด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งโรงเลี้ยงม้าแห่งนี้ได้ขึ้นแท่นเป็นสิ่งปลูกสร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โรงเลี้ยงม้าจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยโรงเลี้ยงม้าแห่งนี้มีความยาว 47 เมตร, กว้าง 25 เมตร, สูงประมาณ 3 เมตร และมีพื้นที่ใช้สอย 939 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พายุโซนร้อนและพายุเฮอริเคนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นโรงเลี้ยงม้าแห่งนี้จึงจำเป็นที่จะต้องแข็งแรงและทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนบ่อย
สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่บริษัท ปริ้นท์ ฟาร์มนำมาใช้เป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ชื่อรุ่นว่าบอด 2 (BOD 2) จากบริษัท โคบอด (COBOD) บริษัทผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับสิ่งปลูกสร้างจากประเทศเดนมาร์ก
ในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้พิมพ์โรงเลี้ยงม้าแห่งนี้ ประกอบไปด้วย คอนกรีต, ปูน และส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งส่วนหัวของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะทำหน้าที่บีบส่วนผสมเหล่านี้ออกมาเป็นชั้น ๆ ซ้อนกัน โดยเริ่มพิมพ์กำแพงต่อกันเข้ามาจากด้านซ้ายและขวาของคอกม้า หลังจากนั้นจึงพิมพ์กำแพงบริเวณตรงกลางของคอกม้าเป็นลำดับสุดท้าย
เมื่อโครงสร้างเริ่มแห้งแล้ว มันจะมีโพรงอากาศและช่องว่างขนาดเล็กอยู่ ทำให้สิ่งก่อปลูกสร้างสามารถระบายความร้อนตามธรรมชาติได้
อนาคตการก่อสร้างไร้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยในอนาคต บริษัทจะมองหาวัตถุดิบในการพิมพ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากกว่านี้ เนื่องจากคอนกรีตที่เป็นส่วนผสมหลักในการพิมพ์โครงสร้าง 3 มิติ ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตคอนกรีต
สำหรับสถิติสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คือตึกในเมืองริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีพื้นที่ 345 ตารางเมตร และมันยังครองสถิติตึกที่สูงที่สุดในโลกที่ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติอีก ด้วยความสูง 9.9 เมตร
ข้อมูลและภาพจาก COBOD
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67