รู้ไว้ก่อนดู ! ประวัติ “Oppenheimer” เรื่องจริงจากผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์คนแรกของโลก: บิดาแห่งระเบิดปรมาณู
เปิดประวัติทุกด้านของ เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์คนแรกของโลก ที่กลายเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ “Oppenheimer” โดยคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan)
คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) หยิบยกประวัติของเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์คนแรกของโลก มาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) โดยมีคิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) มาแสดงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์
ยุครุ่งเรืองของ J. Robert Oppenheimer
ออปเพนไฮเมอร์เริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ควอนตัม (Quantum Physics) และฟิสิกส์ทฤษฎี รวมถึงยังเป็นเพื่อนกับนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ด้วย
ในปี 1942 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ออปเพนไฮเมอร์ถูกทาบทามให้มาร่วมงานในโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์เพื่อหยุดยั้งสงคราม ซึ่งเรียกว่าโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) และรับตำแหน่งผู้อำนวยการที่ห้องทดลองลอส อะลามอส (Los Alamos Laboratory) เพื่อพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกขึ้นมา
ในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 เขาและทีมงานได้ทำการทดลองระเบิดที่เรียกว่าการทดลองทรินิตี้ (Trinity Test) ที่เมืองจำลองในพื้นที่โครงการและประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้เขาได้รับฉายาในภายหลังว่าบิดาแห่งระเบิดอะตอม (Father of the atomic bomb)
ยุคตกต่ำของ J. Robert Oppenheimer
อย่างไรก็ตาม การเร่งพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์จนทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่ากับนางาซิกิที่ญี่ปุ่นในปีเดียวกันแม้ว่าจะกลายเป็นการหยุดสงคราม แต่ทำให้มุมมองต่อระเบิดนิวเคลียร์ของเขาเปลี่ยนไป และหันมาต่อต้านการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่มีพื้นฐานมาจากงานที่เขาทำแทน
นอกจากนี้ การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ยังผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) ซึ่งเขามีมุมมองค่อนข้างโน้มเอียงไปทางเห็นอกเห็นใจสภาพของโซเวียต อีกทั้งภรรยาของเขายังเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาถูกหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลกลางอย่างเอฟบีไอ (FBI) และซีไอเอ (CIA) จับตาดูอย่างใกล้ชิดถึงขั้นดักฟังโทรศัพท์ของเขาด้วย
สถานการณ์ยังเลวร้ายมากขึ้น เมื่อเขายอมรับว่าเคยมีสายลับโซเวียตที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาล้วงข้อมูลโครงการ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ให้ข้อมูล แต่ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นศัตรูของชาติ และถูกเพิกถอนสิทธิในโครงการลับของประเทศทั้งหมดในปี 1954
มหากาพย์ชีวิตของ J. Robert Oppenheimer
แม้ว่าชีวิตการงานกับรัฐบาลของเขาต้องจบลง แต่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Institute for Advanced Study: IAS) ไม่ได้ถูกถอดถอน ทำให้เขายังคงเดินหน้าให้ความรู้แก่สาธารณะแม้ว่าจะถูกอัปเปหิจากวงการวิชาการ รวมถึงผลักดันให้มีการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติตลอดชีวิตของเขา
และในเวลาต่อมา ปลายยุคสงครามเย็น ผู้คนได้ก้าวข้ามความกลัวต่อคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้มุมมองของสาธารณะต่อเขาก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยจอห์น เอฟ เคเนดี้ (John F. Kenedy) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทสำคัญ ได้ตัดสินใจมอบรางวัลเอ็นริโก เฟอร์มี (Enrico Fermi Award) รางวัลสูงสุดของนักวิทยาศาสตร์จากฝั่งประธานาธิบดีให้กับเขาในปี 1963
เรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือชีวประวัติ อเมริกัน โพรมีเทียส: ชัยชนะและโศกนาฏกรรมของเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (American Prometheus: Triumph And Tragedy Of J. Robert Oppenheimer, โพรมีเทียสเป็นภาษากรีกแปลว่ามองการณ์ไกล) แหล่งอ้างอิงบทภาพยนตร์ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่งบันทึกในระบบฟิล์มขนาด 70 มิลลิเมตร ตลอดเวลา 3 ชั่วโมง ได้ความยาว 17 กิโลเมตร และหนักถึง 272 กิโลกรัม
ที่มาข้อมูล New York Times, Wikipedia
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67