ล้ำไปอีกขั้น! ยาที่ AI ผลิตถูกทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยจริงแล้ว
พัฒนาไปอีกขั้น! ยาที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นผู้ผลิตคิดค้นทั้งหมดจากฮ่องกงได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์แล้วเป็นตัวแรกของโลกเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ความสำเร็จในการพัฒนายารักษาโรคก้าวหน้าไปอีกขั้น เมื่อยาที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นผู้ผลิตคิดค้นทั้งหมดจากฮ่องกง ได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์แล้วเป็นตัวแรกของโลกเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อินซิลิโก เมดิซิน (Insilico Medicine) บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพในฮ่องกงผลิตยา INS018_055 ด้วยปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อใช้รักษาโรคพังผืดในปอดที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เนื้อเยื่อปอดเกิดแผลเป็นและพังผืด โดยผู้คนป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริการะบุว่า โรคดังกล่าวกระทบต่อผู้คนราว 100,000 คนในสหรัฐและอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2-5 ปีหากไม่ได้รับการรักษา
อเล็กซ์ ซาวาลอนคอฟ (Alex Zhavoronkov) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Insilico Medicine กล่าวว่า เริ่มพัฒนา INS018_055 ในปี 2020 เป็นยาที่ถือกำเนิดโดย AI อย่างสมบูรณ์ตัวแรกที่เข้าสู่กระบวนการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ โดยเฉพาะการทดลองระยะที่ 2 ที่เป็นการทดสอบยากับคนไข้เพื่อตรวจประสิทธิภาพและผลข้างเคียง
INS018_055 มีศักยภาพในการอุดช่องโหว่ของการรักษาในปัจจุบันที่นิยมใช้ยา Pirfenidone และยา Nintedanib ซึ่งเป็นยาต้านการเกิดพังผืด แม้ว่ายาเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาหรือชะลออาการที่แย่ลง แต่ก็ไม่ได้รักษาหรือหยุดการลุกลามของอาการ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงอย่างคลื่นไส้ ท้องร่วง น้ําหนักลด และเบื่ออาหาร
ซีอีโอของ Insilico Medicine เสริมว่า บริษัทเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่โรคพังผืดในปอดที่ไม่ทราบสาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบของโรคต่อวัยชรา
“ผมไม่เคยจินตนาการในช่วงเริ่มต้นเลยว่าผมจะพายาที่ AI เป็นผู้คิดค้นของผมไปสู่กระบวนการทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยได้ แต่พวกเราก็ตระหนักว่า เพื่อทำให้แพลตฟอร์มการผลิตยาด้วย AI ของเรามีความถูกต้อง ไม่เพียงแต่พวกเราจะต้องพัฒนายาตัวเพื่อรักษาอาการใหม่ ๆ แต่ยังต้องนำมันเข้าสู่การทดลองทางคลินิกเพื่อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีของเราได้ผลจริง” ซาวาลอนคอฟกล่าว
ในการพัฒนายาชนิดใหม่ใด ๆ ซาวาลอนคอฟระบุว่ามี 4 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง คือ การระบุเป้าหมายในการรักษาหรือกลไกทางชีวภาพที่ทำให้เกิดโรค
สอง คือการผลิตยาชนิดใหม่เพื่อเป้าหมายในการรักษานั้น ซึ่งเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่สกัดกั้นความก้าวหน้าของโรคโดยไม่ทำร้ายผู้ป่วย
สาม คือ การทดลองตัวยาเริ่มต้นด้วยการวิจัยในสัตว์ ต่อมาคือการทดลองทางคลินิกในอาสาสมัครมนุษย์ที่มีสุขภาพดี แล้วค่อยทดลองในผู้ป่วยจริง
และสุดท้าย คือ การได้รับอนุมัติโดยหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ยาเพื่อรักษาโรคนั้น ๆ หากการทดสอบต่าง ๆ มีผลลัพธ์เชิงบวก
ขั้นตอนเหล่านี้ดั้งเดิมแล้วนักวิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ในการพัฒนายาแบบใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ารับหน้าที่แทน โดยช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านั้นและเชื่อมโยงความเป็นไปได้ ไปจนถึงจำลองโครงสร้างโมเลกุลใหม่ ในการพัฒนายาตัวใหม่ที่มนุษย์อาจตกหล่น
ปัจจุบัน การทดลองยาของโรคพังผืดในปอดที่ไม่ทราบสาเหตุ โดย AI ของบริษัท Insilico Medicine เป็นการทดลองแบบสุ่ม ที่ใช้วิธีการทดลองแบบปกปิด 2 ฝ่าย (Double-blinded) ทั้งผู้ทดลองและผู้รับการทดลองถูกปกปิดข้อมูล และมีการควบคุมวิจัยด้วยยาหลอก (Placebo) เพื่อป้องกันการเอนเอียงทางวิจัย เป็นนานกว่า 12 สัปดาห์ในประเทศจีน
นอกจากนี้บริษัท Insilico Medicine มีแผนที่จะขยายจำนวนผู้รับการทดสอบเป็น 60 คนในพื้นที่ 40 แห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีน หากการศึกษาระยะที่ 2 ในขณะนี้ประสบผลสำเร็จ บริษัทอาจขยายการทดลองที่มีกลุ่มประชากรที่ใหญ่กว่า และอาจก้าวไปสู่การทดลองคลินิกระยะที่ 3 หรือการทดสอบยากับคนไข้ ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ามีการตอบสนองต่อยาอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อวัดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย กับผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนต่อไป
ที่มาของข้อมูล CNBC
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67