TNN นาซาทดสอบระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสถานีอวกาศ Lunar Gateway

TNN

Tech

นาซาทดสอบระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสถานีอวกาศ Lunar Gateway

นาซาทดสอบระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสถานีอวกาศ Lunar Gateway

นาซาทดสอบระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (SEP) สำหรับสถานีอวกาศ Lunar Gateway โคจรรอบดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทิมิส (Artemis)

นาซา (NASA) และบริษัท แอโรเจ็ท ร็อคเก็ตไดน์ (Aerojet Rocketdyne) เริ่มการทดสอบระบบเครื่องขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (SEP) สำหรับใช้ติดตั้งเข้ากับสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ (Lunar Gateway) ในปี 2025 โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบขับเคลื่อนที่ทรงพลังมากที่สุดสำหรับสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งจะถูกใช้เป็นสถานีหลักและจุดแวะเพื่อส่งนักบินอวกาศลงบนดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทิมิส (Artemis)


ระบบเครื่องขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (SEP) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าขั้นสูง (AEPS) พัฒนาโดยวิศวกรบริษัท แอโรเจ็ท ร็อคเก็ตไดน์ (Aerojet Rocketdyne) มีกำลังการขับเคลื่อน 12 กิโลวัตต์ ทรงพลังมากกว่าระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในอวกาศที่ล้ำหน้าที่สุดในปัจจุบันมากกว่า 2 เท่า โดยระบบใหม่สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าทำให้ทำภารกิจได้ยาวนานและยืดหยุ่นมากขึ้นมากกว่าระบบขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงสารเคมี ระบบเครื่องขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (SEP) ถูกออกแบบให้ปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องได้นาน 15 ปี


"โครงการพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเทคโนโลยีอนาคตอย่างแท้จริง  เมื่อเทียบกับระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในปัจจุบันใช้พลังงานประมาณ 4.5 กิโลวัตต์ ในขณะที่เรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่มีกำลังมากกว่าเป็นอย่างมากเปิดโอกาสในการสำรวจอวกาศในอนาคต ทำให้เราไปได้ไกลและเร็วขึ้น"  เคลย์ตัน คาเชเล่ (Clayton Kachele) ผู้จัดการโครงการระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าขั้นสูง (AEPS) ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Glenn Research Center ของนาซา กล่าวให้รายละเอียดเพิ่มเติม


การทดสอบระบบเครื่องขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (SEP) นาซาไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของระบบมากนัก ข้อมูลเบื้องต้นทราบเพียงใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานขับเคลื่อนให้กับสถานีอวกาศ การทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดสอบขั้นตอนแรก ส่วนการทดสอบในขั้นตอนที่ 2 คาดว่าจะเริ่มขึ้นในปี 2024 โดยเป็นการทดสอบเลียนแบบการสึกหรอที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะบนอวกาศต่าง ๆ ที่รุนแรงในวงโคจรของดวงจันทร์ โดยระบบต้องทำงานต่อเนื่องนานกว่า 23,000 ชั่วโมง ระหว่างการทดสอบเกือบ 4 ปี ภายในห้องสุญญากาศขนาดใหญ่ของศูนย์อวกาศ NASA Glenn


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ nasa.gov  

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ