เปิดภาพ “อนุบาลดาวฤกษ์” ฉลอง 1 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์
นาซา (NASA) เปิดภาพ “อนุบาลดาวฤกษ์ (Stellar nursery)” ฉลองครบรอบ 1 ปี ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope)
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา นาซา (NASA) ได้เปิดภาพ “อนุบาลดาวฤกษ์ (Stellar nursery)” ที่มีชื่อว่าโร โอฟิวคี (Rho Ophiuchi) ฉลองครบรอบ 1 ปี ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope)
กลุ่มเมฆโร โอฟิวคี (Rho Ophiuchi)
โดยโร โอฟิวคีเป็นอนุบาลดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุด ห่างออกไป 360 ปีแสง ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆระหว่างดวงดาวในจักรวาลที่มีความหนาแน่นจนก่อให้เกิดดาวฤกษ์
ในภาพถ่ายนี้ที่ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เผยให้เห็นไอพ่นพุ่งออกมาจากดาวฤกษ์อายุน้อยประมาณ 50 ดวง ที่อยู่ในโร โอฟิวคี กระทบกับก๊าซระหว่างดาวที่อยู่รอบ ๆ และทำให้โมเลกุลไฮโดรเจนเรืองแสงเป็นสีแดง
“ในเวลาเพียง 1 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้เปลี่ยนมุมมองของมนุษยชาติที่มีต่อจักรวาล โดยมองเข้าไปในเมฆฝุ่น และเห็นแสงจากมุมที่ห่างไกลของเอกภพเป็นครั้งแรก” บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้บริหารองค์การนาซากล่าวในแถลงการณ์
1 ปี ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope)
โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เริ่มปฏิบัติงานมาได้ 1 ปี แล้ว ซึ่งมีการเปิดตัวภาพถ่ายแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2022 ณ ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) อันเป็นภาพถ่ายของกระจุกดาราจักรเอสเอ็มเอซีเอส 0723 (SMACS 0723)
ในส่วนของตัวกล้องสามารถสังเกตการณ์ได้ทั้งในช่วงคลื่นแสงที่สามารถมองเห็นได้ (Visible Light) และช่วงคลื่นแสงอินฟราเรด (Infrared) ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2021 เพื่อประจำตำแหน่ง ณ จุดลากร็องฌ์ที่ 2 (L2) ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ โดยมันสามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2022
ภาพและข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ตลอดระยะเวลา 1 ปี ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้กับสาธารณชนเท่านั้น แต่นักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ก็ยังรู้สึกทึ่งกับความแม่นยำและพลังของกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงประโยชน์ที่มันจะมอบให้กับการศึกษาด้านดาราศาสตร์
ข้อมูลจาก space.com
ภาพจาก NASA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67