สหรัฐฯ พัฒนาอุปกรณ์ตัดสัญญาณดาวเทียมของจีนและรัสเซีย
บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันอย่างแอล3แฮร์ริส (L3Harris) เตรียมส่งมอบอุปกรณ์ตัดสัญญาณดาวเทียมให้กองทัพอวกาศสหรัฐ (U.S. Space Force) ซึ่งจะใช้ตัดสัญญาณดาวเทียมจีนและรัสเซีย
จากแถลงการณ์ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ (U.S. Space Force) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2023 ได้เปิดเผยว่าบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน อย่าง แอล3แฮร์ริส (L3Harris) จะทำการส่งมองอุปกรณ์ตัดสัญญาณดาวเทียมที่ชื่อว่า “เมโดว์แลนด์ส (Meadowlands)” จำนวน 30 เครื่อง ให้กับกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ภายในต้นปีของปี 2024
เครื่องตัดสัญญาณดาวเทียม "เมโดว์แลนด์ส (Meadowlands)"
โดยอุปกรณ์นี้มีลักษณะเป็นจานสีขาวขนาดใหญ่คล้ายจานดาวเทียม และจะถูกติดตั้งบนแท่นขนาดใหญ่ด้วยรถบรรทุก 6 ล้อ ซึ่งมันจะปล่อยพลังงานออกมารบกวนดาวเทียมเป้าหมาย ส่งผลให้กลุ่มดาวเทียมเป้าหมายไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันโจมตีดาวเทียมของสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร นอกจากนี้ยังใช้เพื่อป้องกันการสอดแนมของดาวเทียมสอดแนมด้วย
อย่างไรก็ตาม กองทัพอวกาศสหรัฐฯ และแอล3แฮร์ริส ไม่ได้เปิดเผยวิธีการทำงานอย่างละเอียดของอุปกรณ์ดังกล่าว โดยเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า รัสเซียจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงทางด้านอวกาศของสหรัฐฯ เนื่องจากการทดสอบและพัฒนาขีดความสามารถเชิงรุกในอวกาศอย่างแข็งขัน ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่รัสเซียทดลองระเบิดดาวเทียม ในขณะที่จีนทดลองปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรด้วยแขนหุ่นยนต์ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ
ข้อดีของอุปกรณ์ตัวนี้ คือไม่ทำให้ดาวเทียมเป้าหมายเสียหาย จึงไม่ก่อให้เกิดขยะอวกาศในวงโคจรที่อาจไปพุ่งชนดาวเทียมดวงอื่น ๆ และสร้างความเสียหายในวงกว้าง ซึ่งแตกต่างจากวิธีการใช้เลเซอร์ความถี่สูงยิงขึ้นไปจากภาคพื้นดินเพื่อทำลายดาวเทียม
สาเหตุของการส่งมอบล่าช้าที่เกิดขึ้นในปี 2022
ก่อนหน้านี้ บริษัท แอล3แฮร์ริสได้ทำสัญญาร่วมกับกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ว่าจะดำเนินการส่งมอบอุปกรณ์ตัดสัญญาณดาวเทียมดังกล่าวให้กับกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ภายในปี 2022 ซึ่งมีมูลค่าสัญญาถึง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,300 ล้านบาท แต่เพราะพบปัญหาระหว่างการทดสอบ ทำให้บริษัทไม่สามารถส่งมอบอุปกรณ์ตัดสัญญาณดาวเทียมได้ทันในปี 2022
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ข้างต้นได้ระบุว่าปัญหาที่พบในการทดสอบถูกแก้ไขแล้วและอุปกรณ์กำลังเข้าสู่กระบวนการทดสอบขั้นสุดท้าย ซึ่งจะพร้อมสำหรับการส่งมอบให้กับกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ในปี 2024
ข้อมูลจาก interestengineering
ภาพจาก L3Harris
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67