เปิดประวัติ "ทางเลื่อน" นวัตกรรมเพื่อความสะดวกสบาย
สรุปความเป็นมาของ “ทางเลื่อน” นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบายที่มีอายุย้อนไปหลายทศวรรษ
หลังจากข่าวอุบัติเหตุ “ทางเลื่อน” ที่สนามบินดอนเมืองซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ สังคมก็ให้ความสนใจกับทางเลื่อนมากขึ้น ทั้งในแง่ของความปลอดภัยและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง TNN Tech จึงได้สรุปความเป็นมาของทางเลื่อนผ่าน 3 ทางเลื่อนที่เป็นที่สุดของโลก
ทางเลื่อนแรกของโลก
ย้อนไปในปี 1893 สหรัฐอเมริกาได้ทำให้โลกรู้จักกับทางเลื่อน (Moving Walkway) เป็นครั้งแรกภายในงานนิทรรศการโลกซึ่งจัดในนครชิคาโก หรือที่รู้จักในชื่อ เวิลด์ส โคลัมเบียน เอกซ์โพสิชัน (World's Columbian Exposition) และนับเป็นทางเลื่อนที่ยาวที่สุดในโลกตลอดกาลด้วยความยาวกว่า 1 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ทางเลื่อนดังกล่าวต้องถูกรื้อถอนออกไปในปีถัดมาจากเหตุไฟไหม้
ทางเลื่อนเชิงพาณิชย์ที่แรกของโลก
หลังจากการใช้งานที่ชิคาโก ก็มีการใช้งานในนิทรรศการโลกที่ฝรั่งเศสในปี 1900 ด้วยเช่นกัน แต่การเปิดตัวทางเลื่อนที่ให้บริการเพื่อการพาณิชย์เป็นครั้งแรกของโลกนั้นเกิดขึ้นที่ชานชาลารถไฟใต้ดินที่สถานีนิวพอร์ต (Newport) ส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่างรัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) กับมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ในปี 1954
โดยชื่อทางเลื่อนดังกล่าวมีชื่อว่า สปีดวอล์ก (Speedwalk) ซึ่งผลิตโดยบริษัทกู๊ดเยียร์ (Goodyear) ด้วยความยาว 84.5 เมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนจะถูกรื้อถอนไปในปี 1959 จากการที่ตัวทางเลื่อนไม่ตอบโจทย์ลักษณะของผู้ใช้งานในสถานีอีกต่อไป
ทางเลื่อนที่ยาวที่สุดในโลกในปัจจุบัน
ท่ามกลางการก่อสร้างทางเลื่อนทั่วโลกทั้งในสนามบินและอาคารต่าง ๆ เดอะ โดเมน เอกซ์เพรส วอล์กเวย์ (The Domain Express Walkway) นั้นยังคงเป็นทางเลื่อนที่ยาวที่สุดในโลกซึ่งยังคงใช้งานอยู่นับตั้งแต่ปี 1961 จนถึงปัจจุบัน ด้วยความยาว 207 เมตร เชื่อมต่อระหว่างลานจอดรถและสวนสาธารณะไฮด์ พาร์ก (Hyde Park) กลางมหานครซิดนีย์ (Sydney) ของออสเตรเลีย
และเป็นที่ทราบกันดีว่าทางเลื่อนนั้นถูกพัฒนามาจากบันไดเลื่อนที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยในปีพ.ศ. 2507 หรือปี 1994 3 ปีหลังการเกิดขึ้นของเดอะ โดเมน เอกซ์เพรส วอล์กเวย์ ห้างสยามไดมารู ที่สี่แยกราชประสงค์ ก็ได้นำบันไดเลื่อนเข้ามาใช้งานภายในห้าง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีบันไดเลื่อนใช้งาน
ที่มาข้อมูล Wikipedia, Guinness of World Record
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67