TNN NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway

TNN

Tech

NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway

NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway

นาซา (NASA) เตรียมนำปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) มาใช้กับลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) ซึ่งจะเป็นสถานีอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ แทนนักบินอวกาศในบางกรณี

นับได้ว่านี่คือยุคทองของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ล่าสุด ไม่ได้ถูกจำกัดการใช้งานไว้แค่บนโลกแล้ว โดยนาซา (NASA) เตรียมพัฒนาเอไอสำหรับใช้กับลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) ที่จะสร้างให้โคจรรอบดวงจันทร์ภายในปี 2024 ซึ่งเอไอจะสามารถตอบโต้กับนักบินอวกาศได้และมีการเชื่อมต่อสื่อสารกันคล้ายกับแชตจีพีที (ChatGPT)


สำหรับ ลูนาร์ เกตเวย์ เป็นสถานีอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฐานและจุดแวะของนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์และสถานที่อื่น ๆ ในอวกาศที่ไกลออกไป โดยมันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์เทมิส (Artemis Program) โครงการส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี 


โดยเหตุผลที่นาซาต้องการนำเอไอมาใช้กับลูนาร์ เกตเวย์ เนื่องจากปัญหาการสื่อสารล่าช้าระหว่างโลกและดวงจันทร์ ซึ่งมีความล่าช้าราว 5 - 20 นาที ส่งผลให้ในกรณีฉุกเฉิน นักบินอวกาศบนลูนาร์ เกตเวย์จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากสถานีภาคพื้นดินได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเอไอตัวนี้จะถูกนำไปงานหลัก 2 อย่าง คือ 


1. เป็นผู้ช่วยให้กับนักบินอวกาศในการควบคุมลูนาร์ เกตเวย์

2. ทำหน้าที่ควบคุมลูนาร์ เกตเวย์ในกรณีที่ไม่มีนักบินอวกาศประจำอยู่บนนั้นและในกรณีที่ไม่มีการควบคุมจากสถานีภาคพื้นดิน (Ground Station)


NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway

ประสานการทำงานของเอไอ (AI) เข้ากับระบบนิเวศของลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) 


ยกตัวอย่างการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เช่น กรณีที่ลูนาร์ เกตเวย์ถูกขยะอวกาศพุ่งชนจนเกิดความเสียหาย เอไอจะทำการประมวลผลความเสียหาย, ปิดประตูโมดูลที่เสียหาย ไปจนถึงแจ้งเตือนการอพยพให้กับนักบินอวกาศทราบ เนื่องจากการรอคำสั่งจากทีมภาคพื้นดินในกรณีอันตรายแบบนี้ เวลาเพียงแค่ 5 นาที ก็อาจทำให้นักบินอวกาศอพยพไม่ทัน


นอกจากนี้ นาซายังตั้งเป้าให้เอไอมีความสามารถในการตรวจสอบความเสียหายของลูนาร์ เกตเวย์ได้เองแบบอัตโนมัติและจะช่วยแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงให้กับนักบินอวกาศทราบ รวมถึงจะช่วยแก้ปัญหาในกรณีลูนาร์ เกตเวย์ประสบปัญหาออฟไลน์หรือปัญหาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์



อย่างไรก็ตาม นาซาวางแผนที่จะเชื่อมการทำงานของเอไอเข้ากับยานอวกาศโอไรออน (Orion) ที่นักบินอวกาศจะใช้เดินทางจากโลกเพื่อไปเทียบท่ายังลูนาร์ เกตเวย์, ยานอวกาศสตาร์ชิป เฮทแอลเอส (Starship HLS) ที่ใช้สำหรับลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์, สถานีภาคพื้นดินบนโลกและระบบย่อยต่าง ๆ เพื่อให้เอไอสามารถทำงานได้อย่างครอบคลุม


โดยข้อควรระวังของการพัฒนาเอไอตัวนี้ ก็คือมันจะต้องไม่มีข้อผิดพลาดเลย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในด้านควบคุมลูนาร์ เกตเวย์ หรือการให้คำแนะนำกับนักบินอวกาศ นั่นแปลว่าทีมเจ้าหน้าที่ของนาซาจะต้องรวบรวมฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก ๆ เพื่อใช้สำหรับการฝึกเอไอให้มีความแม่นยำสูง ซึ่งอาจทำให้การพัฒนากินเวลานาน

NASA เตรียมนำ AI มาใช้กับ Lunar Gateway

ลูนาร์ เกตเวย์จะทำงานคล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) 

ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 นาซามีแผนส่งโมดูลตั้งต้นของลูนาร์ เกตเวย์ จำนวน 2 โมดูล โดยจะใช้จรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX)


โดยมูลค่าทั้งหมดตั้งแต่การสร้างโมดูลไปจนถึงการส่งโมดูลไปโคจรรอบดวงจันทร์ มีมูลค่าประมาณ 331.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตจะมีการส่งโมดูลเพิ่มเติมขึ้นไปเชื่อมต่อ เพื่อขยายความสามารถในการใช้งานและจะทำให้มันมีขนาดใหญ่กว่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ถึง 6 เท่า โดยสถานีอวกาศนานาชาติมีพื้นที่อยู่อาศัยขนาด 388 ตารางเมตร


ในส่วนของการใช้งาน ลูนาร์ เกตเวย์จะทำหน้าที่คล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติ นอกจากจะเป็นทางเชื่อมให้นักบินอวกาศได้แวะพักเพื่อเดินทางไปยังสถานที่อื่นไกล ๆ ยังเป็นที่อยู่อาศัยและทำงานทดลองด้านวิทยาศาสตร์ของนักบินอวกาศอีกด้วย

ข้อมูลและภาพจาก NASA

ข่าวแนะนำ