ส่ง "ไก่ไทยจะไปอวกาศ" ภารกิจระดับโลก CPF
CPF เตรียมส่งไก่ไทยไปพิชิตอวกาศ ตั้งเป้าให้เนื้อไก่ไทยผ่านการรับรองความปลอดภัยมาตรฐานอวกาศ ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารขั้นสูงสุด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ประกาศภารกิจเตรียมส่งไก่ไทยไปพิชิตอวกาศในโครงการ “Thai food - Mission to Space” โดยเป็นความร่วมมือกับ 2 พันธมิตร คือ บริษัท นาโนแรคส์ (Nanoracks) ที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศสัญชาติอเมริกันและบจก.มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (mu Space) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมอวกาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภารกิจเตรียมส่งไก่ไทยไปพิชิตอวกาศครั้งนี้ เนื้อไก่ไทยจะต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยมาตรฐานอวกาศ (Space Food Safety Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารขั้นสูงสุด
โครงการ Thai food - Mission to Space จาก CPF
สำหรับการทำงานในโครงการ Thai food - Mission to Space ทาง CPF จะทำงานร่วมกับ 2 พันธมิตร และศูนย์วิจัยด้านอาหารอวกาศของสหรัฐฯ เพื่อทำให้เนื้อไก่ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับอวกาศของนาซา (NASA)
โดยมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพด้านอาหารของนาซามีข้อกำหนดมากมายหลายสิบการตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสารตกค้างและเชื้อโรคปนเปื้อนต่าง ๆ จึงจะได้รับการอนุมัติให้นำขึ้นไปบนสถานีอวกาศได้
“สิ่งนี้จะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่อาหารจากประเทศไทยจะได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับนี้ นับเป็นการแสดงศักยภาพขั้นสูงของนวัตกรรมเทคโนโลยีและความปลอดภัยการผลิตเนื้อไก่ของไทย และที่สำคัญคือการยืนยันว่าคนไทยทุกคนได้กินไก่ปลอดภัยในระดับเดียวกับที่องค์กรระดับโลกยอมรับ” คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าว
ร่วมเสวนาพาไก่ไทยไปอวกาศ
นอกจากนี้ ทาง CPF ยังได้จัดงานเสวนา Thai food - Mission to Space ที่เชิญกูรูทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมเสวนากัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ วิคกี้ โคลเอริส (Vickie Kloeris) นักวิทยาศาสตร์อาหารที่เคยทำงานในห้องวิจัยของนาซามานานกว่า 34 ปี และเป็นผู้จัดการระบบอาหารสำหรับเที่ยวบินแรกสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
โดย วิคกี้ โคลเอริส กล่าวว่า อาหารที่จะถูกส่งขึ้นไปกับนักบินอวกาศนั้น ต้องครบถ้วนทั้งด้านความปลอดภัยและโภชนาการ โดยมีเกณฑ์กำหนดจากนาซาที่เข้มงวดมากกว่าอาหารที่ขายทั่วไป เพราะในอวกาศเป็นสถานที่ห่างไกลโรงพยาบาลและหมอมากที่สุด นักบินอวกาศจึงต้องปลอดภัยจากเชื้อโรคและสารปนเปื้อนให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับสารอาหารที่เหมาะสมอย่างครอบคลุมตรงตามความต้องการของร่างกายของนักบินแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ เธอยังเสริมด้วยว่าจากการที่ได้ไปดูงานวิจัยที่ห้องแล็บและวิธีการเลี้ยงดูแลไก่ของ CPF ตัวเธอรู้สึกประทับใจในมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ที่สูงมากของไทย ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเนื้อไก่ CP นั้นปลอดสาร, ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ, สารเคมีตกค้างและเชื้อโรคปนเปื้อนใด ที่จะสามารถพิชิตมาตรฐานอวกาศ ตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับที่นาซากำหนด และแน่นอนว่าอาหารไทยขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยติดอันดับโลก หากมีการส่งไก่จากไทยในเมนูแบบไทยขึ้นไปบนสถานีอวกาศเป็นครั้งแรกนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีของนักบินอวกาศบนนั้นแน่นอน
ทั้งนี้ ซีพีเอฟได้รับมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยด้านอาหารระดับนานาชาติสูงสุดถึง 6 มาตรฐาน โดยล่าสุดยังเป็นบริษัทรายแรกในอาเซียนที่มีมาตรฐานการผลิตอาหารของตนเอง (CPF Food standard; PS 7818:2018) โดยการสนับสนุนจาก BSI หรือสถาบันมาตรฐานอังกฤษ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกิดจากการบูรณาการมาตรฐานสากลหลาย ๆ มาตรฐานเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย HACCP(CODEX), ISO 9001, ISO 22000 รวมถึงกฎระเบียบภายในและต่างประเทศ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งอังกฤษ (BRC), การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (GHP), ระบบการจัดการสวัสดิภาพสัตว์เพื่อส่งออก และสามารถตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตได้ 100% ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ขณะที่มาตรฐานอวกาศจะต้องผ่านกระบวนการตรวจเชื้อโรค, สารตกค้าง, ความปลอดภัยและคุณภาพด้านอาหารต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ของ Space Food Lab อีกถึงมากกว่า 40 การตรวจสอบ
ข้อมูลและภาพจาก CPF
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67