ครั้งแรก ! สหรัฐฯ ไฟเขียวขายเนื้อไก่จากห้องแล็บ
สหรัฐฯ อนุมัติการขายเนื้อไก่สังเคราะห์จากห้องแล็บเพื่อการบริโภคเป็นครั้งแรก กระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อสังเคราะห์ทั้งในและนอกประเทศ
กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) อนุมัติการขายเนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ในห้องปฏิบัติการเพื่อการบริโภคแล้วเป็นครั้งแรก โดยไฟเขียวให้สตาร์ตอัป 2 ราย อย่าง บริษัทอัพไซด์ ฟู้ดส์ (Upside Foods) และบริษัทกู๊ด มีท (Good Meat) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอีต จัสต์ (Eat Just) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถขายเนื้อไก่สังเคราะห์จากห้องแล็บให้แก่ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ได้
การอนุมัตินี้ ถือนิมิตหมายที่ดีต่อประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกกำลังเร่งผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงป้องกันการทรมานสัตว์
โดยเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cell-Cultured Meat) หรือ เนื้อสัตว์สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ที่สกัดจากไขมันหรือกล้ามเนื้อของสัตว์ในถาดอาหารเลี้ยงเชื้อจนเซลล์ดังกล่าวเติบโตในห้องปฏิบัติการที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม จนท้ายที่สุดเกิดเป็นเนื้อสังเคราะห์ที่มีลักษณะ รสชาติ และโภชนาการไม่ต่างจากเนื้อสัตว์แบบที่ผู้คนคุ้นเคย
กลุ่มผู้สนับสนุนเนื้อเพาะเลี้ยงเซลล์ กล่าวว่า เทคโนโลยีทางอาหารนี้จะช่วยเพิ่มตัวเลือกในการบริโภคอาหารให้กับผู้คน อีกทั้งยังขยายโอกาสทางธุรกิจได้อีกด้วย โดยบริษัทแม็กเคนซี (McKinsey) บริษัทให้คำปรึกษาชื่อดังของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าตลาดเนื้อจากห้องแล็บอาจเติบโตถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 882,000 ล้านบาทภายในปี 2030
ผลพวงจากการอนุมัติของ USDA เป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้กับสหรัฐฯ ที่เป็นทั้งหนึ่งในผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดในโลกได้สัมผัสกับนวัตกรรมนี้ และอาจส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ เช่น ในตลาดยุโรปก็มีการเปิดตัวเนื้อสัตว์จากห้องแล็บมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงรัฐบาลเอง ก็กำลังพิจารณาการทลายกำแพงเพื่ออนุญาตการขายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเซลล์แก้ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีบริษัททั่วโลกมากกว่า 150 แห่งที่กำลังผลิตเนื้อจากเซลล์สัตว์ ซึ่งไม่ใช่แค่เนื้อไก่ แต่ยังรวมไปถึงเนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อวัว เนื้อปลา หรือแม้กระทั่งนมด้วย และก่อนหน้านี้ มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่อนุญาตให้ขายเนื้อสัตว์ทางเลือกนี้ภายในประเทศ
ที่มาของข้อมูล thenextweb
ที่มาของรูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67