กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นทดสอบใช้บริการดาวเทียม Starlink ของ SpaceX
กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นทดสอบใช้บริการดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX โดยการติดตั้งสถานีรับสัญญาณประมาณ 10 แห่ง เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่
วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่ากองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นได้เริ่มทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เพื่อประกอบการพิจารณาจัดหาเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ในช่วงปีงบประมาณ 2024 ข้อมูลดังกล่าวถูกนำเสนอในหนังสือพิมพ์ยูมิอูริ (Yomiuri) โดยอ้างแหล่งข่าวภายในรัฐบาลญี่ปุ่นที่ไม่เปิดเผยตัว
ปัจจุบันบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) แล้วมากกว่า 56 ประเทศ รวมไปถึงประเทศญี่ปุ่นที่เปิดบริการในปี 2022 แต่อยู่ในรูปแบบบริษัทเอกชนหรือบุคคลทั่วไป ในขณะการใช้งานในกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นต้องผ่านกระบวนการพิจารณาที่ซับซ้อน เนื่องจากข้อมูลการสื่อสารบางอย่างอาจเป็นข้อมูลความลับด้านการทหาร
ข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบดังกล่าวของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น คาดว่ามีการทดสอบในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยติดตั้งสถานีรับสัญญาณประมาณ 10 แห่ง เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในกองกำลังป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตามข้อมูลอื่น ๆ ไม่ได้รับการถูกเปิดเผย แม้ว่าสื่อมวลชนในประเทศญี่ปุ่นจะพยายามติดต่อสอบถามจากโฆษกกระทรวงกลาโหม กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น
ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาเทคโนโลยีดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ได้รับการถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในด้านของวงการทหาร เนื่องจากมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมอย่างมีประสิทธิภาพในกองทัพยูเครนระหว่างการต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย เช่น การติดต่อสื่อสารหรือการควบคุมโดรนบิน แม้ว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เน้นย้ำว่าบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานด้านการทหาร
ปัจจุบันข้อมูลในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าทั่วโลกมีผู้ใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ไปแล้วทั่วโลกมากกว่า 1.5 ล้านคน โดยผู้ใช้งานจะต้องซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมมาติดตั้งด้วยตัวเองเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายดาวเทียมมากกว่า 5,913 ดวง บนอวกาศ ซึ่งตามแผนการของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) อาจมีดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศมากกว่า 10,000 ดวง ในอนาคต ซึ่งจะสามารถครอบคลุมการติดต่อสื่อสารได้เกือบทุกพื้นที่บนโลก
ที่มาของข้อมูล Reuters, Wikipedia.org
ที่มาของรูปภาพ Starlink
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67