TNN รู้จักยานอวกาศ 6 ประเภทที่ยังใช้งานอยู่

TNN

Tech

รู้จักยานอวกาศ 6 ประเภทที่ยังใช้งานอยู่

รู้จักยานอวกาศ 6 ประเภทที่ยังใช้งานอยู่

พามารู้จักประเภทของยานอวกาศ (Spacecraft) ที่ใช้ในภารกิจสำรวจอวกาศต่าง ๆ ในปัจจุบัน

หลายคนอาจจะคิดว่ายานอวกาศ (Spacecraft) ที่ออกนอกโลกไปสำรวจบนท้องฟ้ามืด น่าจะเหมือน ๆ กัน เพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน แต่แท้ที่จริงแล้ว ยานอวกาศเหล่านี้ถูกจำแนกประเภทไว้ด้วย และถูกนำไปใช้ในภารกิจสำรวจอวกาศที่ต่างกัน


ยานอวกาศแบบบินผ่าน (Flyby spacecraft) 

ยานอวกาศที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำรวจดาวเคราะห์มากกว่า 1 ดวง อาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ในการช่วยเหวี่ยงให้ยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์ที่เป็นเป้าหมายในการสำรวจดวงต่อไป ซึ่งมักใช้ยานอวกาศประเภทนี้ในการสำรวจดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน รวมถึงถึงเคราะห์เคราะห์น้อยที่อยู่ในระบบสุริยะของเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น ยานสตาร์ดัสท์ (Stardust), ยานไพโอเนียร์ 10 (Pioneer 10) และยานนิว ฮอไรซันส์ (New Horizons)


ยานอวกาศบรรยากาศ (Atmospheric spacecraft) 

ยานอวกาศที่ออกแบบมาเพื่อภารกิจระยะสั้นสำหรับการสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ ซึ่งจะมาพร้อมกับอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ, ความดัน, ความหนาแน่น, ปริมาณเมฆและฟ้าผ่า โดยมันจะต้องอาศัยยานอวกาศอีกลำเพื่อส่งมันไปยังชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์เป้าหมาย เนื่องจากยานอวกาศประเภทนี้จะไม่มีระบบสร้างแรงขับที่มากพอจะส่งตัวมันเองไปยังดาวเคราะห์เป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ยานมาร์ส บอลลูน (Mars Balloon), ยานสำรวจชั้นบรรยากาศกาลิเลโอ (Galileo Atmospheric Probe) และยานเวก้า (Vega)


ยานอวกาศเพเนเตอเรเตอร์ (Penetrator spacecraft) 

ยานอวกาศที่ถูกออกแบบมาเพื่อสำรวจพื้นผิวของวัตถุ เช่น ดาวหางและดาวเคราะห์ จึงมาพร้อมกับอุปกรณ์ขุดเจาะและอุปกรณ์ตรวจวัดคุณสมบัติของพื้นผิว ยกตัวอย่างเช่น ยานดีป อิมแพ็ก (Deep Impact), ยานไอซ์ พิก (Ice Pick) และยานลูนาร์ เอ (Lunar-A)


ยานอวกาศโรเวอร์ (Rover spacecraft) 

ยานอวกาศสำหรับสำรวจพื้นผิวแบบมีล้อ ปัจจุบันมักใช้ในการสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งเป็นยานแบบกึ่งอิสระ เนื่องจากยานจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจด้วยตัวเองได้ในบางกรณี เช่น กรณีที่มันเจอเข้ากับพายุฝุ่นบนดาวอังคาร ยานจะต้องตัดสินใจเพื่อปิดเครื่องตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ยานมาร์ส เอ็กซ์โพลเลชั่น โรเวอร์ (Mars Exploration Rovers), ยานมาร์ส ไซแอ้น แลปบอราโทรี่ (Mars Science Laboratory) และยานลูโนโค้ด (Lunokhod)


ยานอวกาศหอสังเกตการณ์ (Observatory spacecraft) 

ยานอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปยังวงโคจรรอบโลกพร้อมกล้องสำหรับสำรวจเอกภพ ซึ่งมันจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกับหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่อยู่นอกโลก ทั้งหมดนี้เพื่อเลี่ยงการรบกวนจากชั้นบรรยากาศของโลกในการสำรวจ ยกตัวอย่างเช่น ยานนูสตาร์ (NuSTAR), ยานไวซ์ (WISE) และยานจันดรา (Chandra)


ยานอวกาศสื่อสารและนำทาง (Communications & Navigation spacecraft) 

ยานอวกาศในเครือข่ายดีป สเปซ เน็ตเวิร์ค (Deep Space Network) ใช้สำหรับนำทางระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกที่โคจรรอบโลก  เพื่อรักษาการอ้างอิงเวลาที่แม่นยำทั่วทั้งเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่น ยานมิลสตาร์ (Milstar) ยานจีพีเอส (Global Positioning System หรือ GPS) และยานไดเร็คทีวี (DirecTV)


ยานอวกาศลงจอด (Lander spacecraft) และยานอวกาศแบบโคจรรอบ (Orbiter spacecraft) 

นอกจากนี้ยังมียานอวกาศอีก 2 ประเภท คือ

- ยานอวกาศลงจอดที่ใช้สำหรับการลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่น ยานไวกิ้ง (Viking) และยานเวเนรา 13 (Venera 13)


- ยานอวกาศแบบโคจรรอบใช้สำหรับโคจรรอบดาวเคราะห์เป้าหมาย เพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศและพื้นผิว ยกตัวอย่างเช่น ยานแคสสินี (Cassini) และยานแมสเซนเจอร์ (Massenger)

รู้จักยานอวกาศ 6 ประเภทที่ยังใช้งานอยู่

ข้อมูลและภาพจาก NASA

ข่าวแนะนำ