แผงโซลาร์เซลล์โอริกามิ พับและพกพาได้
บริษัทสตาร์ตอัปนำเสนอแผงโซลาร์เซลล์แบบพับได้ เหมาะกับการพกพา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจด้านการออกแบบมาจากศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เรียกว่าโอริกามิ (Origami)
เซโก อินโนเวชั่น (Sego Innovations) บริษัทสตาร์ตอัปจากรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถพับและพกพาได้ง่าย โดยได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากโอริกามิ (Origami) ซึ่งเป็นศิลปะการพับกระดาษจากประเทศญี่ปุ่น
แผงโซลาร์เซลล์โอริกามิ (Origami)
เมื่อกางแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าวออกมันจะมีลักษณะเป็นรูปทรง 6 เหลี่ยม และมีพื้นที่ผิว 0.24 ตารางเมตร มีความหนา 2.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักอยู่ที่ 1.4 กิโลกรัม โดยผู้ใช้งานสามารถพับให้มันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ เพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ เมื่อพับแล้วมันจะมีความกว้างและความยาวด้านละ 19 เซนติเมตร
ในส่วนของแผงโซลาร์เซลล์เป็นชนิดโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline) ซึ่งเป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิดที่มีประสิทธิภาพต่อพื้นที่สูงสุด ให้กำลังในการผลิตไฟฟ้าที่ 25 วัตต์ เทียบเท่ากับการชาร์จสมาร์ตโฟนในเวลา 1 - 2 ชั่วโมง, ชาร์จแท็บเล็ต 3 - 4 ชั่วโมง และชาร์จแบตเตอรี่สำรองที่มีความจุ 10,000 มิลลิแอมป์ ใช้เวลา 3.5 - 7 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ตัวแผงโซลาร์เซลล์ยังได้รับการเคลือบเอทิลีน (ETFE) ที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อน ช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์ทนทานต่อสภาพอากาศในระดับมาตรฐานไอพี67 (IP67) โดยแผงโซลาร์เซลล์ตัวนี้เหมาะสำหรับการนำไปใช้ชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การตั้งแคมป์ เป็นต้น
โดยด้านหลังของแผงโซลาร์เซลล์มีพอร์ตยูเอสบี ซีมาให้ 1 ช่อง และมีพอร์ตแยกสำหรับเชื่อมต่อแผงโซลาร์เซลล์เข้าด้วยกันมากกว่า 1 อัน ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์นี้ทำงานร่วมกับขาตั้งแบบ 3 ขา ที่สามารถถอดแยกกับตัวแผงโซลาร์เซลล์ได้ ทำให้สะดวกและประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ
ราคาวางจำหน่าย
สำหรับข้อจำกัดของแผงโซลาร์เซลล์ตัวนี้คือมันยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาและยังอยู่ระหว่างการรอจดสิทธิบัตร โดยมีราคาสำหรับผู้สมทบทุนในเว็บไซต์คิกสตาร์ตเตอร์ (Kickstarter) ที่ 289 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,000 บาท และคาดว่าจะวางขายในราคา 395 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,000 บาท
นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้นำเสนอแผงโซลาร์เซลล์รุ่นพรีเมียมที่ใช้วัสดุเป็นซับสเตรตคาร์บอนไฟเบอร์แทนไฟเบอร์กลาส ซึ่งช่วยให้มันมีความแข็งและเบามากกว่า โดยมีน้ำหนักประมาณ 1.1 กิโลกรัม และเปิดให้ผู้สมทบทุนร่วมสมทบทุนได้ที่ราคา 475 หรือประมาณ 16,000 บาท
ข้อมูลและภาพจาก Kickstarter
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67