TNN พบองค์ประกอบของชีวิต บนดวงจันทร์ดาวเสาร์

TNN

Tech

พบองค์ประกอบของชีวิต บนดวงจันทร์ดาวเสาร์

พบองค์ประกอบของชีวิต บนดวงจันทร์ดาวเสาร์

ทีมนักดาราศาสร์พบว่าดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ที่เป็นบริวารของดาวเสาร์มีค่าความเข้มของฟอสฟอรัสสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีสิ่งมีชีวิตอยู่

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ทีมนักดาราศาสตร์ได้ตีพิมพ์วารสารการค้นพบความเข้มของฟอสฟอรัส (Phosphorus) บนดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ลงบนวารสารเนเชอร์ (Nature) ซึ่งมีค่าความเข้มข้นของฟอสฟอรัสสูงกว่ามหาสมุทรบนโลกถึง 500 เท่า โดยการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ดวงจันทร์เอนเซลาดัสอาจเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกตั้งแต่แพลงตอนพืชไปจนถึงมนุษย์ เนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งมันทำหน้าที่รวมกับน้ำตาลในการสร้างโครงโมเลกุลของดีเอ็นเอ (DNA) 


ดร.แฟรงก์ โพสต์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยอีฟรี เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า การค้นพบในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการพบฟอสฟอรัสในมหาสมุทรนอกโลก โดยก่อนหน้านี้ ทีมนักดาราศาสตร์เคยตรวจพบโซเดียม (Sodium), โพแทสเซียม (Potassium), คลอรีน (Chlorine) และสารประกอบคาร์บอเนต (Carbonate Compounds) ในเม็ดน้ำแข็งตัวอย่างจากดวงจันทร์เอนเซลาดัส ซึ่งถูกเก็บไว้ได้โดยยานอวกาศแคสซินี (Cassini) ที่บินสำรวจบริวารของดาวเสาร์ในช่วงปี 2004 - 2017


สำหรับดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นเป็นบริวารลำดับที่ 6 ของดาวเสาร์, มีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 504 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากโลกของเราออกไปประมาณ 1,200 ล้านกิโลเมตร โดยมันมีพื้นผิวส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยมหาสมุทรที่ปกคลุมด้วยเปลือกน้ำแข็งหนา

พบองค์ประกอบของชีวิต บนดวงจันทร์ดาวเสาร์

ข้อมูลจากยานอวกาศแคสซินี (Cassini) 

ทีมนักดาราศาสตร์ได้นำข้อมูลเก่าของยานอวกาศแคสซินีที่บินผ่านและสัมผัสกับน้ำพุร้อนที่พวยพุ่งขึ้นมาจากพื้นผิวของดวงจันทร์เอนเซลาดัสในปี 2008 มาวิเคราะห์ด้วย ซึ่งพวกเขาพบออโธฟอสเฟต (Orthophosphate) เป็นฟอสฟอรัสชนิดละลายน้ำ สิ่งมีชีวิตจำพวกแพลงก์ตอนสามารถดูดซับและนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ 


นอกจากนี้ ทีมนักดาราศาสตร์ยังประมาณการณ์ไว้ด้วยว่าค่าออโธฟอสเฟตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีความเข้มข้นกว่าบนโลกถึง 1,000 เท่า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถประมาณการณ์ค่าความเข้มข้นของฟอสฟอรัสบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบจำลองคอมพิวเตอร์


ดร.โพสต์เบิร์ก กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่ฟอสเฟตมักจะอยู่ในแร่ธาตุที่เป็นหิน แต่บนดวงจันทร์ดาวเสาร์ดวงนี้ ฟอสเฟตจะอยู่ในรูปแบบของเกลือในมหาสมุทร (แคลเซียมฟอสเฟต) โดยคาดว่าออโธฟอสเฟตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสสามารถรักษาสภาพพันธะของฟอสฟอรัสไว้ได้เนื่องจากมีลักษณะเป็นมหาสมุทรโซดาหรือมหาสมุทรที่เต็มไปคาร์บอเนตและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคาร์บอเนตได้สร้างทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ทำให้แคลเซียมไม่ไปสร้างทำปฏิกิริยากับออโธฟอสเฟตจนก่อให้เกิดแคลเซียมฟอสเฟต ดวงจันทร์เอนเซลาดัสจึงมีฟอสเฟตที่เข้มข้นพอที่จะให้สิ่งมีชีวิตนั้นเจริญเติบโตได้ 

พบองค์ประกอบของชีวิต บนดวงจันทร์ดาวเสาร์

อาจเป็นบ้านหลังที่ 2 ของมนุษยชาติ 

อย่างไรก็ตาม การค้นพบฟอสฟอรัสไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า สิ่งมีชีวิตจะดำรงชีพอยู่ได้ เพราะยังต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบร่วมด้วย เช่น อุณหภูมิ, แรงโน้มถ่วงและชั้นบรรยากาศ แต่นี่อาจจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สนับสนุนสมมุติฐานว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกตั้งแต่พืชไปจนถึงมนุษย์อาจสามารถเติบโตและดำรงชีวิตอยู่บนดวงจันทร์เอนเซลาดัสได้ ซึ่งไม่แน่มันอาจกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของมนุษยชาติในอนาคตก็เป็นไปได้ 


ข้อมูลจาก Nature

ภาพจาก NASA


ข่าวแนะนำ