เฟ้นหาดาว F1 รุ่นใหม่ จากนักกีฬาอีสปอร์ต
ทีมฟอร์มูล่าวัน (F1) หวังดึงตัวนักกีฬาอีสปอร์ตมาขับรถแข่งในสนามจริง หลังนักกีฬาอีสปอร์ตเอาชนะนักขับ F1 ตัวจริงได้
ปัจจุบันการแข่งขัน ฟอร์มูล่าวัน อีสปอร์ต ซีรีส์ (Formula 1 Esports Series) หรือ “เกม” จำลองการแข่งขันรถฟอร์มูล่าวันกำลังได้รับความนิยม ไม่แพ้การแข่งรถฟอร์มูล่าวัน (Formula 1: F1) ในสนามจริง โดยการแข่งขันเกมอีสปอร์ตในปีค.ศ. 2022 มียอดผู้ชมมากถึง 45 ล้านคน และปัจจุบัน ทีมฟอร์มูล่าวันหลายทีม เช่น “เรดบูล” (Red Bull) แชมป์ประเภททีมผู้ผลิตในปัจจุบัน “เมอร์เซเดส” (Mercedes) และม้าลำพอง “สคูเดอเรีย เฟอร์รารี่” (Scuderia Ferrari) เริ่มสนใจมาดูการแข่งขันเกมฟอร์มูล่าวันจำลองกันมากขึ้น เพื่อเฟ้นหานักแข่งฟอร์มูล่าวัน อีสปอร์ตดาวรุ่งรุ่นใหม่ มาเข้าสู่วงการรถแข่งสี่ล้อในสนามจริง !
ทำไมทีม F1 จึงสนใจนักกีฬาอีสปอร์ต ?
เหตุผลหลักคือ นักกีฬาฟอร์มูล่าวัน อีสปอร์ตนั้นไม่ได้ใช้จอยเกมในการแข่งขัน เหมือนการเล่นเกมทั่วไป แต่ใช้ระบบจำลองการแข่งรถเสมือนจริง (Simulator race rigs) ซึ่งมีระบบการควบคุมรถและอุปกรณ์ต่าง ๆ แทบจะเหมือนรถฟอร์มูล่าวันจริงทุกอย่าง เช่น พวงมาลัย คันเร่ง และจอภาพที่ให้มุมมองทั้งด้านหน้าและด้านข้าง ด้วยเหตุนี้ทีมฟอร์มูล่าวันจึงหันมาสนใจดึงตัวนักกีฬาฟอร์มูล่าวันอีสปอร์ตไปลงสนามขับรถกันจริง ๆ มากขึ้น เพราะตัวนักกีฬาอีสปอร์ต จะมีพื้นฐานและความคุ้นชินกับตัวรถ ที่นำมาต่อยอดในการแข่งรถจริงได้ง่าย
“เกมฟอร์มูล่าวันเป็นประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการแข่งรถในชีวิตจริงมากที่สุด โดยไม่ต้องไปนั่งหลังพวงมาลัยรถจริง ๆ” ลินด์เซย์ เอคเฮาส์ (Lindsey Eckhouse) ผู้อำนวยการฝ่ายสัญญาอนุญาตและสินค้าดิจิตอล ทีมแมคลาเรน (McLaren) กล่าว
ทีมแข่งเริ่มดึงตัวนักกีฬาอีสปอร์ตมาขับในสนามจริง
โดยที่ผ่านมา นักกีฬาอีสปอร์ตหลายคนผันตัวเองมาขับรถแข่งในสนามจริงได้สำเร็จ เช่น เซม โบลุกบาซี (Cem Bölükbaşı) นักกีฬาฟอร์มูล่าวัน อีสปอร์ตสัญชาติตุรกี กลายเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตคนแรกที่ย้ายมาขับในการแข่งขันฟอร์มูล่าทู (Formula 2) ได้สำเร็จในปีค.ศ. 2022
นักกีฬาอีสปอร์ตเอาชนะนักขับ F1 ตัวจริงได้ !
ในปีเดียวกัน ลูคัส เบลคลีย์ (Lucas Blakeley) นักกีฬาอีสปอร์ต สังกัดทีมแมคลาเรน อีสปอร์ต (McLaren's Esports) ซึ่งเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน อีสปอร์ต ซีรีส์ 1 สมัย สามารถเอาชนะแชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน 4 สมัยสัญชาติเยอรมันอย่าง เซบาสเตียน เวทเทล (Sebastian Vettel) ได้ในการแข่งขันรถตัวต่อตัวบนสนามจริง ๆ อย่าง เรซ ออฟ แชมเพียนส์ (Race Of Champions: ROC) ได้สำเร็จ
ซึ่งปกติแล้ว เบลคลีย์ลงแข่งในเกมจำลองเสมือนจริงเป็นหลัก ทว่าชัยชนะของเขาในสนามแข่งจริง ๆ นั้นไม่ได้มาจากโชคช่วยแต่อย่างใด เพราะในปีต่อมา เบลคลีย์ก็แสดงฝีมือ เอาชนะนักแข่ง F1 ในการแข่งขันขับรถจริงได้อีกครั้ง โดยในครั้งนี้เขาสามารถเอาชนะวัลท์เทอรี บอททาส (Valtteri Bottas) นักแข่ง F1 สังกัดทีมอัลฟา โรเมโอ (Alfa Romeo) ในการแข่งขันรายการเดียวกัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ค่าใช้จ่ายเป็นปัญหาใหญ่ในเส้นทางอาชีพนักแข่ง F1
จะเห็นได้ว่านักกีฬาอีสปอร์ตหลาย ๆ คนมีฝีมือในการขับรถแข่งไม่น้อย แต่สาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจมาแข่งขันในเกมจำลอง แทนที่จะลงแข่งในสนามจริงนั้นเป็นเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป โดยมีรายงานว่า นักแข่งและทีมแข่งฟอร์มูล่าวัน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรวมกันโดยเฉลี่ยสูงถึง 26.7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 900 ล้านบาท เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูล่าวันในฤดูกาล 2023 ถึงแม้ว่าตัวเลขค่าธรรมเนียมของนักแข่งจะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการออกมา แต่สื่อหลายสำนักคาดว่านักแข่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 11,047 ดอลลาร์ หรือราว 380,000 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมตามผลงาน ซึ่งจะมีอัตราเพิ่มขึ้นตามแต้มคะแนนที่นักแข่งทำได้ในฤดูกาลก่อนหน้า
เช่นเดียวกันกับกรณีของ เบลคลีย์ ซึ่งเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตในสังกัดทีมแมคลาเรน อีสปอร์ต (McLaren's Esports) โดยในวัยเด็ก เขาเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักแข่งตั้งแต่อายุ 7 ปีจากการแข่งรถโกคาร์ท (Go-kart) มาก่อน และตัวเขาเองก็สนใจลงแข่งขัน F1 ทว่าค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูล่าวันนั้นสูงเกินไป เบลคลีย์จึงผันตัวมาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตแทนในปี ค.ศ. 2019 และก็สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันชิงความเร็วบนสนามแข่งรถจริง ๆ และเอาชนะบรรดานักแข่งฟอร์มูล่าวันจริง ๆ ได้สำเร็จ แม้จะยังไม่ใช่บนสนามแข่งขันฟอร์มูล่าวันก็ตาม
จะเห็นได้ว่า การแข่งขันอีสปอร์ตจึงเป็นใบเบิกทางใหม่ให้กับนักแข่งหลาย ๆ คนเพื่อเข้าสู่สนามแข่งของจริง แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีนักกีฬาอีสปอร์ตลงแข่งขันในสนามฟอร์มูล่าวันได้สำเร็จ แต่อนาคตเราอาจจะได้เห็นนักแข่ง F1 ดาวรุ่งคนใหม่มาจากการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน อีสปอร์ตก็เป็นได้
ที่มารูปภาพ BBC
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67