TNN ispace เผยสาเหตุยาน Hakuto-R ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

TNN

Tech

ispace เผยสาเหตุยาน Hakuto-R ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

ispace เผยสาเหตุยาน Hakuto-R ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

บริษัท ไอสเปซ (ispace) เผยสาเหตุยาน Hakuto-R ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ ระบบตรวจสอบความสูงของยานผิดพลาด

วันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา บริษัท ไอสเปซ (ispace) ประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยผลการทำภารกิจ HAKUTO-R Mission 1 บนหน้าเว็บไซต์ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจการนำยานอวกาศ HAKUTO-R ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ไม่ประสบความสำเร็จและทีมงานพร้อมนำข้อผิดพลาดไปใช้ปรับปรุงแก้พัฒนายานอวกาศในภารกิจ HAKUTO-R Mission 2 และ HAKUTO-R Mission 3


ตามข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยย้อนไปในวันที่ 26 เมษายน เวลาประมาณ 00.40 น. ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น หรือเวลาประมาณ 22.40 น. ตามเวลาในประเทศไทย ยานอวกาศ HAKUTO-R เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการลงจอดบนดวงจันทร์ที่ระดับความสูงประมาณ 100 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ โดยยานสามารถชะลอความเร็วลงเหลือ 1 เมตรต่อวินาที และตามกำหนดการเดิมยานต้องลงจอดสำเร็จในเวลา 01.43 น.


อย่างไรก็ตามในระหว่างกระบวนการลงจอดได้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับอุปกรณ์ตรวจวัดความสูงของยาน HAKUTO-R และทำให้ซอฟต์แวร์การลงจอดของยานอวกาศได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับระดับความสูงของยานกับพื้นผิวดวงจันทร์ว่าเหลือ 0 เมตร ทั้งที่ความเป็นจริงยานยังคงอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ที่ระดับความสูงประมาณ 5 กิโลเมตร ในขณะเดียวกันเชื้อเพลิงของยานก็ถูกใช้ไปเรื่อย ๆ จนหมดพลังงาน ส่งผลให้ยานตกลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์


สาเหตุที่ทำให้ข้อมูลระดับความสูงของยานกับพื้นผิวดวงจันทร์ผิดพลาดมาจากยานได้บินผ่านบริเวณปากปล่องหลุมอุกกาบาตซึ่งมีความสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้อุปกรณ์ตรวจวัดความสูงของยานสับสนและระบุความสูงของปากปล่องหลุมอุกกาบาตดังกล่าวเป็นข้อมูลพื้นผิวดวงจันทร์ ส่งผลให้การลงจอดไม่สำเร็จ


ก่อนหน้านี้ทีมงานได้ตรวจสอบและจำลองระบบการลงจอดบนโลกหลายครั้งเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตามคาดว่าในระหว่างการทดสอบบนโลกทีมงานอาจยังไม่มีการจำลองรายละเอียดของพื้นผิวดวงจันทร์ที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตอย่างละเอียดเพียงพอ ส่งผลให้ระบบการลงจอดทำงานผิดพลาด


สำหรับภารกิจ HAKUTO-R Mission 1 เริ่มออกเดินทางจากโลกในวันที่ 11 ธันวาคม 2022 โดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ Falcon 9 ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) โดยความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศญี่ปุ่น JAXA องค์การอวกาศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี และองค์การนาซาประเทศสหรัฐอเมริกา 


ในภารกิจ HAKUTO-R Mission 1 ประเทศยูเออี ได้ส่งรถหุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์ ชื่อ ราชิด โรเวอร์ (Rashid Rover) น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม เดินทางขึ้นไปพร้อมกับยานอวกาศ HAKUTO-R ตามแผนการที่ต้องการให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี กลายเป็นประเทศแรกในกลุ่มชาติอาหรับที่เดินทางไปถึงดวงจันทร์และนำหุ่นยนต์สำรวจวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์


สำหรับภารกิจ HAKUTO-R Mission 2 และ HAKUTO-R Mission 3 คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ โดยบริษัท ไอสเปซ (ispace) มีแผนการระยะยาวไปถึงภารกิจ HAKUTO-R Mission 10 เพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่และแหล่งน้ำบนดวงจันทร์ในอนาคต


ที่มาของข้อมูล Engadget 

ที่มาของรูปภาพ ispace-inc.com 

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ