TNN บริษัทในสหรัฐฯ จับมือร่วมกันพัฒนาเครื่องบินปีกผสมผสานพลังงานไฮโดรเจน

TNN

Tech

บริษัทในสหรัฐฯ จับมือร่วมกันพัฒนาเครื่องบินปีกผสมผสานพลังงานไฮโดรเจน

บริษัทในสหรัฐฯ จับมือร่วมกันพัฒนาเครื่องบินปีกผสมผสานพลังงานไฮโดรเจน

บริษัทในสหรัฐฯ จับมือร่วมกันพัฒนาเครื่องบินปีกผสมผสานพลังงานไฮโดรเจน นาติลุส โคนา (Natilus Kona)

บริษัท นาติลุส (Natilus) และบริษัท ซีโรเวีย (Zeroavia) สองบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการบินในประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศจับมือเป็นพันธมิตรพัฒนาเครื่องบินปีกผสมผสนาน (Blended Wing Body Aircraft) พลังงานไฮโดรเจน ชื่อว่า นาติลุส โคนา (Natilus Kona) เตรียมทดสอบในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2023 บริเวณสนามบินทดสอบในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

การออกแบบตัวเครื่องบินนาติลุส โคนา (Natilus Kona) มีทีมงานวิศวกรบริษัท นาติลุส (Natilus) ในขณะที่ระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์ของเครื่องบินมีทีมงานวิศวกรของบริษัท ซีโรเวีย (Zeroavia) เป็นผู้รับผิดชอบระบบส่งกำลังไฟฟ้าไฮโดรเจน 600 กิโลวัตต์ หรือที่เรียกว่า ZA-600

เครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนนาติลุส โคนา (Natilus Kona) ที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นมีลักษณะเป็นเครื่องบินปีกผสมผสนาน (Blended Wing Body Aircraft) คล้ายเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหนในกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ขนาดลำตัวมีความกว้างรูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมรองรับการจัดเก็บสินค้าและผู้โดยสาร ในขณะเดียวกันก็สามารถเก็บเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้เป็นจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน

เครื่องบินนาติลุส โคนา (Natilus Kona) ได้รับการออกแบบให้เป็นอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีวงปีกกว้างถึง 26 เมตร ใช้รันเวย์ในการวิ่งขึ้นและลงจอดความยาว 800 เมตร บริษัทเตรียมใช้ทดลองส่งสินค้าระยะไกล บรรทุกสินค้าน้ำหนัก 3.8 ตัน ด้วยรูปทรงที่มีวงปีกกว้างทำให้สามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่าอากาศยานขนาดใกล้เคียงกัน 60% โดยมีพิสัยการบิน 1,667 กิโลเมตร บริษัทยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับความเร็วและเพดานบินสูงสุดของเครื่องบินนาติลุส โคนา

ทั้งบริษัท นาติลุส (Natilus) และบริษัท ซีโรเวีย (Zeroavia) มีเป้าหมายเดียวกันในการลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากเครื่องบิน ก่อนหน้านี้บริษัท ซีโรเวีย (Zeroavia) เคยประสบความสำเร็จนำเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน Dornier 228 รองรับผู้โดยสาร 19 ที่นั่ง บินขึ้นบนท้องฟ้าสำเร็จมาแล้วในช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา และกลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่ทำได้สำเร็จ นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนการระยะยาวเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ไฮโดรเจนขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ในปี 2026 เพื่อรองรับการใช้งานกับเครื่องบินขนาดใหญ่มากขึ้นในปี

สำหรับเครื่องบินปีกผสมผสนาน (Blended Wing Body Aircraft) ได้รับการจับตามองว่าอาจเป็นเทคโนโลยีการบินที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต รูปทรงปีกสามเหลี่ยมและโครงสร้างห้องโดยสารที่กว้างมากขึ้นทำให้บรรทุกขนส่งสินค้าได้มากกว่าเครื่องบินแบบปกติทั่วไป

นอกจากบริษัทในสหรัฐอเมริกายังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการบินในยุโรป เช่น บริษัท แอร์บัส (Airbus) ที่กำลังพัฒนาเครื่องบินรูปแบบปีผสมผสานชื่อว่า มาเวอริก (MAVERIC) หรือ Model Aircraft for Validation and Experimentation of Robust Innovative Controls แม้จะใช้พลังงานไฮโดรเจนเช่นเดียวกันแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าหลายเท่า โดยแอร์บัส (Airbus) มีแผนการทดสอบบินครั้งแรกในปี 2026






ที่มาของข้อมูล Newatlas, zeroavia 
ที่มาของรูปภาพ natilus.co

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ