หมึกเปลี่ยนสีได้ตามแสงแดด แรงบันดาลใจจากผิวปลาหมึก
ทีมนักวิจัยพัฒนาหมึกทีไอโอ 2 (TiO2) ที่สามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อสัมผัสกับแสงแดด ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเปลี่ยนสีของปลาหมึกในท้องทะเล
จะเป็นอย่างไรเมื่อเสื้อผ้า 1 ตัว สามารถเปลี่ยนไปมาได้มากกว่า 1 สี โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (Hong Kong University) นำโดยจินเยา ถัง (Jinyao TANG) ได้พัฒนาน้ำหมึกทีไอโอ 2 (TiO2) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนสีได้อัตโนมัติเมื่อเจอแสงแดด
หมึกทีไอโอ 2 (TiO2)
โดยน้ำหมึกชนิดนี้มาจากการผสมไมโครบีด (Microbead) หรืออนุภาคพลาสติกแข็งขนาดเล็ก 3 สี เข้าด้วยกัน ได้แก่ สีฟ้า, สีม่วงแดงและสีเหลือง ซึ่งไมโครบีดแต่ละสีจะแยกตัวกันอยู่เป็นชั้นไม่ผสมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวคล้ายกับน้ำและน้ำมัน
ไมโครบีดแต่ละสีมีปฏิกิริยาตอบโต้กับคลื่นแสงที่มีความยาวแตกต่างกัน เมื่อไมโครบีดแต่ละสีเจอกับแสงที่มีความยาวคลื่นตรงกับตนเอง มันก็จะลอยขึ้นมาอยู่ชั้นบนสุดเหนือไมโครบีดสีอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้ามันเจอกับแสงที่มีความยาวคลื่นต่ำประมาณ 435-500 นาโนเมตร ซึ่งทำปฏิกิริยากับสีฟ้า ไมโครบีดสีฟ้าก็จะจะลอยตัวแยกชั้นขึ้นมาจากไมโครบีดสีอื่น ๆ ส่งผลให้สีที่แสดงออกในขณะนั้นเป็นสีฟ้า
และถ้าเจอกับแสงที่มีความยาวคลื่นสูงประมาณ 630-750 นาโนเมตร ซึ่งทำปฏิกิริยากับสีแดง ไมโครบีดสีแดงก็จะลอยตัวแยกชั้นขึ้นมาด้านบนสุดจนเห็นเสื้อผ้าเป็นแดง ดังนั้นเมื่อหมึกทีไอโอ 2 ถูกนำไปใช้บนเสื้อผ้า เสื้อผ้าก็จะสามารถเปลี่ยนสีได้ตามแสงแดด
โดยนักวิจัยได้ทำการทดสอบด้วยการใช้เครื่องฉายภาพดัดแปลงเพื่อแสดงภาพกึ่งถาวรที่ทำจากหมึกนี้ ซึ่งรูปแบบต่าง ๆ สามารถคงอยู่ได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่หมึกจะผสมกลับเข้าด้วยกัน
การพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต
จินเยา ถังเปิดเผยว่าทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อนำหมึกชนิดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น การย้อมสีเสื้อผ้าของทหารสำหรับการพรางตัวแบบอัตโนมัติ ซึ่งหมึกทีไอโอ 2 มีข้อดีกว่าหมึกเปลี่ยนสีแบบเคมีทั่วไป นั่นก็คือมันปลอดภัยกว่า, มีความเสถียรมากกว่าและง่ายต่อการนำมาประยุกต์ใช้กับเสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน
ข้อมูลและภาพจาก The University of Hong Kong
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67