TNN Meta โดนสหภาพยุโรปปรับ 45,000 ล้าน ฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว

TNN

Tech

Meta โดนสหภาพยุโรปปรับ 45,000 ล้าน ฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว

Meta โดนสหภาพยุโรปปรับ 45,000 ล้าน ฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว

เมตา (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) โดนสหภาพยุโรป (European Union: EU) สั่งปรับอ่วมเกือบ 45,000 ล้านบาท โทษฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวจากการถ่ายโอนข้อมูลไปยังสหรัฐอเมริกา

เมตา (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) ถูกสหภาพยุโรป (EU) สั่งปรับเป็นจำนวนเงินสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1,200 ล้านยูโร หรือเกือบ 45,000 ล้านบาท โทษฐานถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในอียูไปยังสหรัฐ และโดนสั่งห้ามไม่ให้กระทำความผิดดังกล่าวอีกในอนาคต เนื่องจากศาลของอียูเชื่อว่าการถ่ายโอนข้อมูลนี้เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้คน ซึ่งได้มีการร้องเรียนขึ้นตั้งแต่ปี 2013 


คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไอร์แลนด์ (DPC) ซึ่งดำเนินการเรื่องคำตัดสินนี้ในนามสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนข้อมูลไปยังสหรัฐในปัจจุบันไม่ได้กล่าวถึงความเสี่ยงต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้เฟซบุ๊กในอียู อีกทั้งยังเป็นการละเมิดต่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ของสหภาพอีกด้วย 


โดยค่าปรับที่ Meta เผชิญในครั้งนี้ทุบสถิติครั้งก่อน ๆ ที่อียูเคยเรียกเก็บจากบริษัทต่างๆ อาทิ แอมะซอน (Amazon) ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซยอดนิยมระดับโลก เป็นจำนวนเงิน 746 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,800 ล้านบาทเมื่อปี 2021 ในความผิดละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่คล้ายคลึงกัน


สำหรับ Meta แล้ว การถ่ายโอนข้อมูลไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานด้านโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย (Targeting ad) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากในการประเมินผล โดยเมื่อปีที่ผ่านมา Meta กล่าวว่าอาจต้องพิจารณาเลิกให้บริการเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม (Instagram) ในอียูหากไม่สามารถส่งข้อมูลกับไปยังสหรัฐได้ ซึ่งนักการเมืองในภูมิภาคดังกล่าวมองว่าคำกล่าวนี้เป็นการข่มขู่ที่ชัดเจน


“Meta ไม่สามารถแบล็กเมล์อียูให้ละทิ้งมาตรการคุ้มครองข้อมูลได้” แอ็กซ์เซล วอสส์ สมาชิกสภานิติบัญญัติของอียูกล่าว และว่าการเลิกทำธุรกิจในอียูจะเป็นผลเสียให้แก่บริษัทเอง


ก่อนหน้านี้ การถ่ายโอนข้อมูลได้รับการปกป้องจาก “ไพรวาซี ชิลด์” (Privacy Shield) ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐและคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้คน อย่างไรก็ดี ข้อตกลงนี้ถูกทำให้เป็นโมฆะในปี 2020 หลังจากที่ศาลสูงสุดของอียูพบว่ามันไม่ได้ปกป้องข้อมูลของประชาชนจากการสอดแนมของสหรัฐ


แม้ว่าในปัจจุบัน Meta จะถูกสั่งให้หยุดการถ่ายโอนข้อมูลแล้วก็ตาม แต่ก็มีเงื่อนไขหลายอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้กับยักษ์ใหญ่ด้านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายนี้ อันดับแรกคือการที่คำตัดสินนี้มีผลต่อเฟซบุ๊กเท่านั้น ส่วนแอปพลิเคชันอื่น ๆ ของ Meta อย่าง อินสตาแกรม หรือวอทส์แอป (Whatsapp) ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ต่อมาคือการที่ Meta มีระยะเวลาผ่อนผันชำระ 5 เดือน ก่อนที่บริษัทจะต้องหยุดถ่ายโอนข้อมูลในอนาคต รวมถึงกำหนดเส้นตาย 6 เดือนในการเลิกจัดเก็บข้อมูลที่มีในปัจจุบันในสหรัฐ สุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการที่อียูและสหรัฐกำลังเจรจาเพื่อสร้างข้อตกลงใหม่ในการโอนย้ายข้อมูลระหว่างกัน โดยอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในฤดูร้อนที่กำลังจะถึงหรืออย่างช้าในเดือนตุลาคมปีนี้


ด้านผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยว่า โทษปรับจำนวนมหาศาลนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติด้านความเป็นส่วนตัวของ Meta ได้หรือไม่ 


จอห์นนี ไรอัน (Johnny Ryan) นักวิจัยอาวุโสจากสภาเสรีภาพพลเมืองของไอร์แลนด์ (The Irish Council for Civil Liberties) กล่าวต่อสื่อเจ้าดังอย่าง เดอะการ์เดียน (The Guardian) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ค่าปรับจำนวนพันล้านยูโรไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับบริษัทที่สามารถหาเงินได้อีกหลายพันล้านจากการดำเนินการที่ผิดกฎหมายได้


แม็กซ์ สเครมส์ (Max Schrems) นักกฎหมายชาวออสเตรียที่เคยฟ้องร้องเฟซบุ๊กในเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2013 กล่าวในงานแถลงข่าวว่า “พวกเรายินดีที่ได้เห็นคำตัดสินนี้หลังจากการดำเนินคดีกว่า 10 ปี” และว่า “ยังสามารถตั้งค่าปรับให้สูงกว่านี้ได้เพราะเพดานของโทษอยู่ที่กว่า 4,000 ล้านยูโร อีกทั้ง Meta ยังได้ฝ่าฝืนกฎโดยรู้อยู่เต็มอกเพื่อทำกำไรเป็นเวลากว่า 10 ปี”


ส่วน Meta เองกล่าวถึงคำตัดสินดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมและไม่มีความจำเป็นในโพสต์บล็อกของบริษัท ซึ่งเขียนโดย นิก เคล็กก์ (Nick Clegg) ประธานฝ่ายกิจการระดับโลกของ Meta และเจนนิเฟอร์ นิวสเตด (Jennifer Newstead) หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พร้อมตอกย้ำว่าตนเป็นแค่หนึ่งในอีกหลายพันบริษัทที่ใช้กรอบการดำเนินงานทางกฎหมายที่คล้ายคลึงกันในการถ่ายโอนข้อมูล


“พวกเรากำลังอุทธรณ์คำตัดสินเหล่านี้และจะขอดำเนินการในชั้นศาลโดยทันที เพื่อระงับกำหนดเส้นตาย เนื่องจากว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหลายล้านคนในแต่ละวัน” นิก เคล็กก์ (Nick Clegg) ประธานฝ่ายกิจการระดับโลกของ Meta กล่าวเพิ่มเติม


อย่างไรก็ดี สเครมส์คาดการณ์ว่า การอุทธรณ์ Meta จะไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ข้อตกลงด้านการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสหรัฐและอียูฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะยังคงไม่สามารถตอบสนองต่อข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวของอียูได้


“Meta วางแผนที่จะพึ่งพิงข้อตกลงใหม่ในการถ่ายโอนข้อมูลในอนาคตแต่นี่ไม่ใช่การแก้ไขที่ยั่งยืน” สเครมส์กล่าว พร้อมย้ำว่า Meta คงต้องเก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้ของอียูไว้ในสหภาพนี้ไปก่อนจนกว่าสหรัฐจะแก้ไขกฎหมายด้านการสอดแนมของตน


ที่มาของข้อมูล Theverge 

ที่มาของรูปภาพ Reuters

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ