TNN สหรัฐฯ พัฒนาโดรนแปลงร่างจากใบพัดขึ้นลงแนวดิ่งให้เป็นปีกตอนบินได้ !

TNN

Tech

สหรัฐฯ พัฒนาโดรนแปลงร่างจากใบพัดขึ้นลงแนวดิ่งให้เป็นปีกตอนบินได้ !

สหรัฐฯ พัฒนาโดรนแปลงร่างจากใบพัดขึ้นลงแนวดิ่งให้เป็นปีกตอนบินได้ !

เทโรไดนามิกส์ (Pterodynamics) สตาร์ตอัปสหรัฐฯ สร้างโดรน eVTOL ที่สามารถให้แกนใบพัดทั้ง 4 ใบกลายร่างเป็นปีกเพื่อใช้บินได้ แต่ยังคงเอกลักษณ์การขึ้นลงในแนวดิ่งไว้

คุณสมบัติโดรนแปลงร่าง

เทโรไดนามิกส์ (Pterodynamics) สตาร์ตอัปด้าน eVTOL (อีวีทีโอแอล หรืออีวีทัล) หรืออากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้าจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้สร้างโดรนที่น่าตกตะลึงซึ่งมีชื่อว่า เอกซ์พีโฟร์ (X-P4) eVTOL แบบ 4 ใบพัด (Quadcopter) ที่มีความพิเศษที่ระบบการบินนั้นสามารถขึ้นลงในแนวดิ่งได้ และเมื่อเริ่มการบิน (Cruise) ก็จะกางแกนยึดใบพัดให้กลายเป็นปีกแบบเครื่องบินทั่วไปได้


เอกซ์พีโฟร์ จะมีลำตัว (Fuselage) ยาวประมาณ 2 เมตร ติดตั้งใบพัด (Propeller) สำหรับขึ้นบินและลงจอดในแนวดิ่ง 4 ใบพัด แบบข้างลำตัวละ 2 ใบ (Dihedral) และเมื่อขึ้นบินได้แล้ว ตัวแกนยึดใบพัดจะกางออกแบบทวนเข็มนาฬิกาเมื่อเทียบกับทิศทางการบิน ซึ่งจะได้ปีก (Wingspan) ยาว 4 เมตร พร้อมระบบหยุดการทำงานของใบพัดข้างละ 1 ตัว เพื่อประหยัดพลังงานในการบิน ส่วนข้อมูลทางเทคนิคอื่น ๆ ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ในตอนนี้


ประโยชน์ของโดรนแปลงร่าง

เอกซ์พีโฟร์ยังเป็นเพียงต้นแบบที่ทางบริษัทสาธิตการทำงานเท่านั้น โดยทางบริษัทเคลมว่าสามารถยกระดับต้นแบบให้กลายเป็นแท็กซี่บินได้ (Air Taxi) สำหรับผู้โดยสารสูงสุดถึง 10 คน ในอนาคตอีกด้วย และในปัจจุบันทางบริษัทกำลังทดสอบการใช้งานกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในการเป็นยานพาหนะขนส่งระหว่างเรือรบกับท่าเรือ (Ship to Shore Platform) ด้วยเช่นกัน ซึ่งโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ในขณะนี้


การพัฒนา eVTOL ในรูปแบบดังกล่าวเป็นความพยายามครั้งสำคัญที่ต้องการปลดพันธนาการด้านระยะทางการบินที่สั้นจากการใช้ใบพัดแนวดิ่งเพื่อรักษาระดับการบิน ด้วยการพัฒนาให้กลายเป็นปีกแทนโดยไม่ต้องเพิ่มเครื่องมือหรือใบพัดสำหรับการบินแยก ต่างจากเดิมที่ใช้วิธีเพิ่มน้ำหนักและแรงต้านอากาศ (Drag) แต่ระยะทางการบินที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร


ก่อนหน้านี้ทางบริษัท อินสิตู (Insitu) ได้สร้างส่วนเสริมที่ติดเข้ากับโดรนทรงเครื่องบินให้กลายเป็นโดรนขึ้นลงในแนวดิ่งออกมาเช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าการพัฒนา eVTOL ในสหรัฐอเมริกาอาจกำลังเติบโตในทิศทางที่ต้องการสร้าง eVTOL ที่บินไกลและใช้งานหนักมากขึ้นในอนาคต



ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ Pterodynamics 

ข่าวแนะนำ