หนุ่มวัย 21 ปีชาวไนจีเรีย เก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์มาสร้างเครื่องบินบังคับสุดคูล
หนุ่มน้อยชาวไนจีเรียวัย 21 ปี เก็บชิ้นส่วนจากกองขยะมาเปลี่ยนเป็นเครื่องบินบังคับใช้งานได้จริง
โบลาจิ ฟาไท (Bolaji Fatai) ชายหนุ่มวัย 21 ปี ชาวไนจีเรีย เริ่มสนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไกตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ฟาไทมักจะคอยเก็บรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ จากกองขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเอามาทำเป็นโครงการสร้างสิ่งประดิษฐ์เล็ก ๆ เช่น รถบังคับอยู่เสมอ จนกระทั่งเขาเริ่มสร้างเครื่องบินบังคับเมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม ซึ่งฟาไทต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเพื่อเก็บเงินนำไปซื้อชิ้นส่วนสำคัญที่ไม่สามารถทำเองได้ 2 อย่าง นั่นก็คือ รีโมตคอนโทรล และใบพัดจากร้านขายอุปกรณ์ในเมือง
ส่วนชิ้นส่วนที่เหลือ เช่น ปีก และหางเสือบังคับทิศทาง ฟาไทจะใช้วิธีค่อย ๆ เก็บรวบรวมมาจากกองขยะ และใช้เทปกาวประกอบแต่ละชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน จนในที่สุดก็สำเร็จ กลายเป็นเครื่องบินบังคับขนาดความกว้างปีก 1 เมตร ซึ่งใช้วัสดุหลักเป็นสไตโรโฟม (Styrofoam) หรือโฟมกันกระแทกชนิดหนึ่ง ทำให้ตัวเครื่องบินมีน้ำหนักเบาพอที่จะเหินขึ้นไปบนฟ้าได้
ที่มาของรูปภาพ Reuters
หลังจากปรับชิ้นส่วนโครงสร้าง ใช้หลักการทางฟิสิกส์และการออกแบบด้วยอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) เครื่องบินของฟาไทก็ออกไปโลดแล่นบนอากาศได้ในที่สุด แม้เขาจะไม่เคยขึ้นเครื่องบิน และไม่มีเงินเพียงพอจะซื้อเครื่องบินบังคับมาเป็นต้นแบบเลยก็ตาม ขณะที่ปัจจุบันนี้ ฟาไทกำลังเริ่มฝึกงานกับบริษัทด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในไนจีเรีย ที่มาพบเขาเข้าโดยบังเอิญตอนกำลังฝึกหัดควบคุมเครื่องบินบังคับนั่นเอง
ทั้งนี้ ฟาไทยังหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของพลังที่จะช่วยพัฒนาประเทศ โดยเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเป็นวิศวกรอากาศยานให้ได้ในอนาคต และจะใช้เทคโนโลยีโดรนที่เขาจะสร้าง เพื่อทำให้ประเทศไนจีเรียพัฒนาไปได้ไกลยิ่งขึ้น
ที่มาของข้อมูล Reuters
ที่มาของรูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67