TNN หมดสงสัย ! สุริยุปราคากับจันทรุปราคาต่างกันอย่างไร

TNN

Tech

หมดสงสัย ! สุริยุปราคากับจันทรุปราคาต่างกันอย่างไร

หมดสงสัย ! สุริยุปราคากับจันทรุปราคาต่างกันอย่างไร

โลกเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคาบ่อยครั้ง แล้วสุริยปราคาคืออะไร จันทรุปราคาเป็นแบบไหน แล้วสุริยปราคากับจันทรุปราคาต่างกันอย่างไร


ประเทศไทยมีโอกาสได้รับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบบางส่วนไปเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในพื้นที่ 9 จังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่) และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาขึ้นมา ก็มักมีความสับสนกับเหตุการณ์จันทรุปราคาตลอดจนมีความเข้าใจในรายละเอียดที่มาของเหตุการณ์คลาดเคลื่อนอีกด้วย


1. ตำแหน่งโลกในปรากฏการณ์สุริยุปราคากับจันทรุปราคา

สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อโลก, ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน โดยอยู่ในลักษณะที่ดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ส่งผลให้เราสังเกตเห็นเงาดำทับดวงอาทิตย์! แตกต่างจากจันทรุปราคา ที่ถึงแม้จะเป็นปรากฏการณ์ในลักษณะคล้ายกัน แต่ตำแหน่งของโลกนั้นอยู่ตรงกลางในระนาบแทน ทำให้แสงสะท้อนบนดวงจันทร์เปลี่ยนไป


2. ช่วงเวลาในการเกิดสุริยุปราคากับจันทรุปราคา

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาไม่เคยเกิดตอนกลางคืน แตกต่างจากจันทรุปราคาที่จะพบได้ในช่วงกลางคืนหรือช่วงพลบค่ำ ซึ่งจันทรุปราคามีช่วงเวลาการเกิดเหตุการณ์ได้ยาวนาน 1 - 2 ชั่วโมง ส่วนสุริยุปราคาแบบเต็มดวงนั้นมีช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น โดยช่วงก่อนหน้าและหลังเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงจะเป็นช่วงของเงามัวที่บดบังกันที่ใช้ระยะเวลามากกว่า รวมถึงสุริยุปราคาแบบบางส่วนเมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมาที่ไทยด้วยเช่นกัน


3. จำนวนครั้งในการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา

สุริยปราคาจะเกิดขึ้น 2 - 5 ครั้งต่อปี ขึ้นอยู่กับรอบการโคจรที่จะพาดผ่านในระนาบภายใน 18 เดือน ซึ่งก็มีโอกาสเกิดสุริยุปราคาแบบเต็มดวงหรือบางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ ตำแหน่งที่สามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคาได้นั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งวงโคจรของดาวแต่ละดวง รวมไปถึงการหมุนรอบตัวเองของโลก เช่น เหตุการณ์สุริยุปราคาครั้งจะเป็นแบบวงแหวนในวันที่ 14-15 ตุลาคม ตามเวลาประเทศไทย แต่จะเกิดในซีกทวีปอเมริกาซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ที่ไทย ในขณะที่จันทรุปราคาจะเกิดปีละ 2 ครั้ง โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทยบอกว่าจันทรุปราคาครั้งถัดไปที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าจะเกิดขึ้นวันที่ 29 ตุลาคมนี้ โดยเป็นจันทรุปราคาแบบเสี้ยว ซึ่งถ้าพลาดครั้งนี้ก็ต้องไปรอดูปีหน้าแทน


ทั้ง 3 ความแตกต่างนั้นล้วนเป็นข้อบ่งชี้สำคัญว่าสุริยุปราคากับจันทรุปราคานั้นแตกต่างอย่างไร นอกจากนี้ สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ห้ามมองขึ้นไปโดยตรง เพราะรังสีแสงจากดวงอาทิตย์อาจทำให้ตาบอดได้ ต้องใช้เครื่องมือสังเกตการณ์หรือใช้ฉากรับภาพเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์จันทรุปราคานั้นสามารถสังเกตได้โดยตรงโดยไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา


ที่มาข้อมูล Diffen, สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ที่มารูปภาพ NASA

ข่าวแนะนำ