TNN โดรนบินจากซากนก คืนชีพให้นกกลับมาบินเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง

TNN

Tech

โดรนบินจากซากนก คืนชีพให้นกกลับมาบินเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง

โดรนบินจากซากนก คืนชีพให้นกกลับมาบินเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง

ใครจะรู้ว่านกที่เราเห็นบิน ๆ กันอยู่บนท้องฟ้า อาจจะไม่ใช่นกจริง ๆ ก็ได้ เพราะล่าสุดนักวิจัยในสหรัฐฯ​ เขาพัฒนาโดรนบินแบบใหม่ ใช้ซากนกที่ตายแล้วมาทำให้ให้เป็นโดรนบินได้ เนียนเหมือนนกตัวนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

นักวิทยาศาสตร์ในรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ผุดไอเดียคืนชีพให้กับนกที่ตายแล้ว ด้วยการนำซากของมันมาทำเป็นโดรนบิน เพื่อใช้ศึกษารูปแบบการบินของนก และอาจต่อยอดไปเป็นการพัฒนาโดรนบินเพื่อการส่องศึกษาสัตว์ตามธรรมชาติในอนาคต


โดรนบินจากซากนก คืนชีพให้นกกลับมาบินเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง ภาพจากรอยเตอร์

 ศาสตราจารย์มอสตาฟา ฮัสซานาเลียน (Mostafa Hassanalian) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล แห่งสถาบันเหมืองแร่และเทคโนโลยีแห่งนิวเม็กซิโก (New Mexico Institute of Mining and Technolog) มองว่า ปัจจุบัน การศึกษารูปแบบการบินของนก จากนกจักรกลประดิษฐ์ ไม่ตอบโจทย์กับการเรียนรู้มากนัก


ตัวศาสตราจารย์และทีมงาน เลยได้ไอเดียการทำวิศวกรรมย้อนกลับ หรือ Reverse Engineering ซึ่งหมายถึงกระบวนการพัฒนาโดยใช้การวิเคราะห์สืบกลับไปจากต้นแบบที่มีอยู่เดิม ด้วยการเอาซากนกจริง ๆ มาทำเป็นโดรนบินเพื่อการศึกษา โดยซากนกเหล่านี้ เป็นซากนกที่ผ่านกระบวนการสตัฟฟ์สัตว์โดยใช้เทคนิควิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะ ทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีลักษณะท่าทางคล้ายกับตอนยังมีชีวิตอยู่มากที่สุด


โดรนบินจากซากนก คืนชีพให้นกกลับมาบินเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง ภาพจากรอยเตอร์

 


ซึ่งตอนนี้โดรนบินจากซากนก ก็กำลังได้รับการทดสอบในกรงที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจการก่อตัวของฝูงบิน รูปแบบการบิน รวมถึงความแตกต่างของสีปีก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบิน และตั้งเป้าจะทำให้โดรนสามารถกลมกลืนไปกับฝูงนกได้มากที่สุด เพื่อนำความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการบินได้


อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โดรนบินจากซากนก ก็ยังสามารถบินได้นานสูงสุดเพียง 20 นาทีเท่านั้น ขั้นต่อไปก็คือการหาวิธีทำให้มันบินได้นานขึ้นและทำการทดสอบในป่าท่ามกลางนกที่มีชีวิต ดังนั้นไม่แน่ว่านกที่เราเห็นบิน ๆ กันอยู่บนท้องฟ้าในครั้งต่อไป อาจจะไม่ใช่นกธรรมชาติ แต่เป็นโดรนบินนกที่ปลอมตัวมาอย่างแนบเนียนก็เป็นได้


ข้อมูลจาก reuters

ข่าวแนะนำ