คลื่นวิทยุประหลาดในอวกาศอาจมาจากดาวนิวตรอนชนรวมกัน
นักดาราศาสตร์พบคลื่นวิทยุประหลาดในอวกาศที่อาจมาจากดาวนิวตรอนชนและหลอมรวมกัน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา ทีมนักดาราศาสตร์ได้เผยแพร่รายงานการค้นพบการลุกจ้าฉับพลันของคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นในเวลาสั้น ๆ ที่เรียกว่าฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ต (Fast Radio Bursts หรือ FRBs) ลงบนวารสารเนเชอร์ แอสโตรโนมี (Nature Astronomy) ซึ่งคาดว่าฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตอาจเกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอน
การค้นพบฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ต (Fast Radio Burst) ครั้งแรก
โดยฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2007 และมีการค้นพบอยู่ตลอดมาเรื่อย ๆ ซึ่งฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตบางตัวเกิดซ้ำเป็นระยะ ในขณะที่ฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตอีกหลายตัวเกิดขึ้นและหายไปในเวลาเพียงไม่กี่มิลลิวินาที
สำหรับรายงานการค้นพบครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2019 ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบระลอกคลื่นความโน้มถ่วงจากการรวมตัวของดาวนิวตรอนซึ่งเรียกว่าจีดับเบิลยู 190425 (GW190425) จากหอดูดาวไลโก (LIGO หรือ Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory) หลายชั่วโมงต่อมา การทดลองการทำแผนที่ความเข้มของไฮโดรเจนตรวจพบฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตจากพื้นที่เดียวกัน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ว่าฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตเกิดจากการชนและรวมตัวกันของดาวนิวตรอน
ฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตอาจมีแหล่งกำเนิด 2 ชนิด
โดยทีมนักดาราศาสตร์ได้ทำการสรุปว่าฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตมีแหล่งกำเนิด 2 ชนิด คือ
1. จากการชนและรวมตัวกันของดาวนิวตรอน
2. จากแมกนีทาร์ (Magnetar) ซึ่งเป็นดาวนิวตรอนที่มีสนามแม่เหล็กที่กำลังแรงมาก หรืออาจมาจากแหล่งอื่นที่ไม่รู้จัก
สุดท้ายนี้ ทีมนักดาราศาสตร์หวังว่าจะสามารถศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ของฟาสต์ เรดิโอ เบิร์ตและการชนกันของดาวนิวตรอนได้ โดยการสำรวจครั้งต่อไปจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2023 ที่จะถึงนี้
ในส่วนของดาวนิวตรอนเป็นดาวที่มีขนาดเล็กแต่มีมวลมาก อย่างไรก็ตาม ดาวนิวตรอนไม่สามารถมีมวลได้มากกว่า 3 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ มิเช่นนั้นใจกลางของดาวจะยุบตัวและกลายเป็นหลุมดำ ซึ่งจะไม่ตรงกับนิยามของดาวนิวตรอนอีกต่อไป
ข้อมูลจาก livescience
ภาพจาก NASA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67