NASA จับมือ Minecraft สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ผ่านเกม
องค์การนาซา (NASA) จับมือเกมไมน์คราฟต์ (Minecraft) จำลองการสร้างและปล่อยจรวดลงในเกมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เล่นที่เป็นเด็ก
องค์การนาซา (NASA) ได้จำลองการสร้างและปล่อยจรวดลงในเกมไมน์คราฟต์ (Minecraft) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เล่นที่เป็นเด็ก อีกทั้งผู้เล่นยังจะได้เรียนรู้วิศวกรรมจรวดและกลไกพื้นฐานในการสร้างและปล่อยจรวด ซึ่งจำลองมาจากภารกิจอาร์เทมิส (Artemis) อันเป็นภารกิจที่นาซาจะส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง
โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสเต็ม เอนเกจเม้นต์ (STEM Engagment) ของนาซาที่มีจุดประสงค์ในการให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมและคณิตศาสตร์
บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้บริหารของนาซากล่าวว่า “นาซามุ่งมั่นที่จะเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างที่สุดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นอาร์เทมิส เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับภารกิจแห่งอนาคต”
โดยไมน์คราฟต์ได้สร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา 2 โลก อิงจากภารกิจอาร์เทมิสในโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงการจำลองทีมนักบินอวกาศ, ผู้หญิงคนแรกและมนุษย์ผิวสีคนแรกที่จะถูกส่งไปลงจอดบนดวงจันทร์ด้วย
ภารกิจอาร์เทมิส (Artemis) คืออะไร ?
ในส่วนของภารกิจอาร์เทมิสเป็นภารกิจที่นาซาจะส่งมนุษย์กลับไปลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ภารกิจอะพอลโล 17 (Apollo 17) อันเป็นภารกิจสุดท้ายของโครงการอะพอลโล (Apollo Program) ที่ส่งนักบินอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์แต่ในภารกิจอาร์เทมิสจะไม่ได้เป็นเพียงภารกิจลงจอดธรรมดาเท่านั้น โดยจะมีการส่งลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway) ไปโคจรรอบดวงจันทร์สำหรับเป็นที่ทำงานของนักบินอวกาศคล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่โคจรอยู่รอบโลก รวมถึงการสร้างลูนาร์ เบต แคมป์ (Lunar Base Camp) สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาวอย่างน้อย 6 เดือน ของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์
การสร้างแรงบันดาลใจผ่านเกมสุดฮิตของเด็ก
สำหรับเกมไมน์คราฟต์เป็นเกมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เด็กและเยาวชน ซึ่งเหมาะกับเด็กอายุตั้งแต่ 8 ปี ขึ้นไป โดยถือเป็นกลุ่มคนรุ่นอาร์เทมิสอย่างที่บิล เนลสันกล่าวเพราะคนกลุ่มนี้จะเติบโตมาระหว่างที่นาซาส่งภารกิจอาร์เทมิสไปยังดวงจันทร์ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญในอนาคตสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ นาซาจึงให้ความสนใจกับการสร้างแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ให้กับคนกลุ่มนี้นั่นเอง
ข้อมูลจาก NASA
ภาพจาก Minecraft Education
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67