พบกาแล็กซีคล้ายทางช้างเผือก โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) จับภาพกาแล็กซีคล้ายทางช้างเผือกที่อยู่ห่างออกไปราวพันล้านปีแสง
นักดาราศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) จับภาพกาแล็กซีชนิดกังหัน (Spiral Galaxy) ที่มีหน้าตาคล้ายกับกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy) ของเรา โดยมันมีชื่อว่า ลีดา 2046648 (LEDA 2046648) ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีสบนท้องฟ้าและอยู่ห่างออกไปในเอกภพราวพันล้านปีแสง หรือกล่าวได้ว่าเรากำลังมองเห็นแสงของกาแล็กซีเมื่อพันล้านปี ก่อน
องค์การอวกาศยุโรปได้เผยแพร่ภาพถ่ายดังกล่าวออกมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2023 ซึ่งเป็นภาพที่นักดาราศาสตร์ถ่ายได้ขณะทำการปรับสมดุลกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ให้พร้อมให้งานในวันที่ 22 พฤษภาคม 2022 ด้วยกล้องอินฟราเรดช่วงใกล้ หรือ Near InfraRed Camera (NIRCam) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์
การเลื่อนทางแดง (Redshift) คืออะไร ?
โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์สามารถสังเกตเห็นกาแล็กซีลีดา 2046648 ที่อยู่ห่างออกไปมากได้ เนื่องจากกาแล็กซีกำลังเผยให้เห็นถึงการเลื่อนทางแดง (Redshift) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเอกภพทำให้วัตถุบางอย่างในเอกภพเคลื่อนที่ห่างออกไปจากเราจนเผยให้เห็นแสงสีแดงที่ความยาวคลื่นถูกยืดออกไปเป็นทางยาว ในทางกลับกันการขยายตัวของเอกภพก็ก่อให้เกิดการเลื่อนทางน้ำเงิน (Blueshift) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่วัตถุนั้น ๆ กำลังเคลื่อนที่เข้าหาเรา
ปริศนาการกำเนิดเอกภพ
นอกจากนี้ในภาพถ่ายยังเผยให้เห็นกาแล็กซีอื่น ๆ โดยบางกาแล็กซีอาจมีอายุถึง 300 ล้านปี หลังจากการเกิดบิกแบง (Big Bang) ที่เป็นชื่อเรียกของการระเบิดครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดเอกภพของเราขึ้นมา ด้วยความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาสเจมส์ เวบบ์กำลังทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาวัตถุในยุคแรกเริ่มได้มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจถึงการกำเนิดเอกภพได้
ข้อมูลและภาพจาก ESA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67