ทรงพลังกว่า ChatGPT ! Microsoft ประกาศผสาน Bing เข้ากับปัญญาประดิษฐ์จาก OpenAI
จับประเด็นจากงานแถลงข่าวด่วนของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ผสานแชตจีพีที (ChatGPT) เข้าไปในทั้งบราวเซอร์และระบบค้นหาของตัวเอง
บริษัท ไมโครซอฟท์ (Microsoft) จัดงานแถลงข่าวด่วนเมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023 ตามเวลาประเทศไทย โดยได้ประกาศผสานบิง (Bing) ระบบการค้นหา (Search Engine) ของบริษัทเข้ากับปัญญาประดิษฐ์แชตจีพีที (ChatGPT) ที่พัฒนาโดยบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโมเดลภาษา (Language Model) โดยเป็นการผสานและยกเครื่องคู่ไปกับเว็บเบราว์เซอร์ไมโครซอฟท์เอดจ์ (Microsoft Edge) ที่พัฒนาโดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (Microsoft)
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบิง (Bing) และเอดจ์ (Edge)
โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบิงและเอดจ์จะเกิดขึ้นภายใต้หลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1. การใช้ชุดคำสั่งใหม่ในการค้นหา โดยเลือกใช้ภาษาเดียวกันกับการพัฒนาแชตจีพีทีจากโอเพนเอไอ
2. การปรับปรุงความเกี่ยวข้องในการค้นหา, การอธิบายผลลัพธ์การค้นหา, การทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน, การเข้าใจสภาพภูมิตำแหน่ง และการยกระดับการค้นหาที่ปลอดภัย หรือเรียกรวมว่าการพัฒนาแบบโพรมีเทียส (Prometheus Model - ตั้งชื่อตามเทพแห่งการหยั่งรู้ของกรีก)
3. การยกเครื่องดัชนีการค้นหาข้อมูล (Search Index) หรือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สามารถค้นหาข้อมูลและจัดทำดัชนีเองได้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญในอีก 2 ทศวรรษ ต่อจากนี้
4. การยกเครื่องประสบการณ์การใช้งาน (User Experience) ที่ไม่ได้แค่เป็นหน้าเว็บค้นหาแต่จะนำเสนอคำตอบของการค้นหาที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการสนทนา ซึ่งเป็นรูปแบบของแชตจีพีทีที่เราเห็นกันอยู่แล้ว โดยผสานลงในหน้าเว็บเบราว์เซอร์
จากรายงานของวินโดว์ส เซนทรัล (Windows Central) ในการแถลงข่าวได้มีการยกตัวอย่างการยกเครื่องผ่านสถานการณ์ตัวอย่าง เช่น การป้อนคำสั่งให้กับบิงว่า “สร้างแผนเดินทาง 5 วัน สำหรับแต่ละวันในแผนการท่องเที่ยวกรุงเม็กซิโก ซิตี้ (Mexico City) สำหรับฉันและครอบครัว” บิงจะทำการร่างแผนการท่องเที่ยวที่ระบุทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และจุดเด่นที่ไม่ควรพลาด และเมื่อทำการปรับแก้แผนให้เป็น 3 วัน ก็สามารถปรับเปลี่ยนสถานที่แนะนำได้ รวมถึงสามารถถามต่อได้ว่ามีแผนการท่องเที่ยวช่วงกลางคืน ตลอดจนถามค่าใช้จ่ายและรายละเอียดอื่น ๆ ได้อีกด้วย
การยกเครื่องเอดจ์ (Edge) เว็บเบราว์เซอร์ของไมโครซอฟท์
นอกจากความสามารถในการค้นหาที่เปลี่ยนจากการแสดงผลลัพธ์การค้นหาไปสู่การสร้างคำตอบด้วยแชตเสมือนจริงแล้ว ไมโครซอฟท์ ยังเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการทำงานของเว็บบราวเซอร์อีกด้วย โดยระบบใหม่นี้มีจะเพิ่มหน้าต่างด้านข้าง (Side Bar) ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยฟีเชอร์การทำงาน 4 อย่าง ได้แก่ แชต (Chat) คอมโพส (Compose) โอเวอร์วิว (Overview) และไซต์ อินโฟ (Site Info)
ในฟีเชอร์แชตนั้นจะมีลักษณะการทำงานแบบเดียวกับการค้นหาในบิง โดยยกตัวอย่างสถานการณ์การเปิดหน้าเอกสาร (PDF) ขึ้นมา แล้วใช้ระบบแชตเพื่อขอให้สรุปใจความสำคัญของเอกสาร ระบบจะสร้าง (Generate) คำตอบขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
และในคอมโพส (Compose) ผู้ใช้งานสามารถให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ร่างบทความขึ้นมา โดยเพียงกรอกหัวข้อ อารมณ์ของบทความ (Tone) และรูปแบบการเขียนบทความ ตั้งแต่บทความทั่วไป อีเมล บล็อกโพสต์ (Blog post) และร่างไอเดีย พร้อมทั้งกำหนดความยาวของเนื้อหาได้อีกด้วย
ในขณะที่ฟังก์ชันโอเวอร์วิว (Overview) และไซต์ อินโฟ (Site Info) ไม่ได้มีการระบุรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ ซึ่งคาดว่าอาจจะไม่ได้เป็นหัวใจการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
การยกระดับระบบความปลอดภัย (Safety System)
ด้วยความสามารถในการวางแผนของมันอย่างที่กล่าวไปในตอนต้น ไมโครซอฟท์จึงได้คิดค้นระบบความปลอดภัย (Safety System) เข้าไปด้วยการฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ให้เรียนรู้จากประวัติการค้นหาเก่า ๆ ของบิง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้บิงในทางที่ผิด เช่น การวางแผนก่อการร้าย หรือการวางแผนโจมตีโรงเรียน เป็นต้น
ในขณะเดียวกันก็ได้ปรับปรุงความแม่นยำในการทำงานของระบบปัญญาประดิษฐ์ด้วยการนำภาษาจีพีที 4 (GPT-4) ชุดคำสั่งสำหรับปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่ล่าสุดที่จะทำให้การประมวลผลและการเรียนรู้นั้นมีข้อผิดพลาดน้อยลงแต่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่แถลงในวันนี้ทางไมโครซอฟท์ย้ำว่าพัฒนาภายใต้ระบบอะชัวร์ (Azure) ระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์ (Cloud Computer) ที่ทันสมัยที่สุดของบริษัทมาตั้งแต่ 2017
สุดท้ายนี้ ไมโครซอฟท์เปิดให้ใช้งานบิงเวอร์ชันใหม่ที่ผสานการทำงานเข้ากับแชตจีพีทีเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แต่เป็นรูปแบบการใช้งานในวงจำกัด ก่อนเปิดทดสอบเต็มรูปแบบในลำดับต่อไป โดยสามารถใช้งานได้ทั้งบนเว็บไซต์บิงและเว็บเบราว์เซอร์เอดจ์ของไมโครซอฟท์ที่แสดงผลบนคอมพิวเตอร์แบบไม่เสียค่าบริการเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนเวอร์ชันแสดงผลบนสมาร์ตโฟนจะเปิดใช้ในลำดับถัดไป
ที่มาข้อมูล Windows Central, Engadget
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67