Jet Shark เรือทรงฉลาม ดำน้ำ-แล่นบนผิวน้ำได้ เปิดมิติผจญภัยโลกใต้น้ำ
ยานพาหนะสุดล้ำ เปิดประสบการณ์ใหม่ใต้น้ำของกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเดินทางแบบเอ็กซ์ตรีม ด้วยการเคลื่อนไหวแบบล่องผ่านผิวน้ำคล้ายสัตว์ตระกูลโลมา
ยานพาหนะรูปทรงนี้ล้ำยุค เพรียวลมลำนี้ มีสมญานามว่า เจ็ต ชาร์ค (Jet Shark) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบมาจากโลมาและฉลาม พร้อมความสามารถดำดิ่งลงไปใต้ผืนน้ำได้ โดยเจ็ต ชาร์ค สามารถเดินทางได้ 2 รูปแบบ ทั้งแบบตัวห้องควบคุมอยู่เหนือน้ำ หรือหากจะเลือกวิวภายนอกกระจกเป็นบรรยากาศใต้น้ำ เจ็ต ชาร์ค จะดำดิ่งลงไปได้ที่ความลึกสูงสุดประมาณ 1.5 เมตร
ห้องเครื่องของเจ็ตชาร์ค ใช้เครื่องยนต์คอร์เวตต์ Corvette 8 สูบ ขนาด 6.2 ลิตร แบบโฉมใหม่ ขณะที่ในอนาคต เจ็ตชาร์คอาจจะมีการยกระดับไปใช้เครื่องยนต์ซูเปอร์ชาร์จขนาด 600 แรงม้าหรือเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามโมเดลของแต่ละรุ่น โดยรุ่นต้นแบบในปัจจุบันของเจ็ต ชาร์ค มีความเร็วสูงสุด 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่รุ่นวางขายทั่วไปในอนาคต ตั้งเป้าทำความเร็วสูงสุดไว้ 89 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนตัวห้องควบคุม มีรูปร่างคล้ายกับห้องเครื่องนักบินขับไล่ รวมผู้โดยสารและคนขับแล้วบรรทุกคนสูงสุดได้ถึง 6 คน ขณะที่ระหว่างการดำน้ำ เครื่องยนต์จะดูดอากาศไปยังห้องโดยสารผ่านครีบด้านบนที่ยื่นออกมาซึ่งติดกล้องไว้ ช่วยให้คนขับสามารถเห็นบรรยากาศเหนือผิวน้ำได้ ทั้งนี้ คนขับและผู้โดยสารแถวหน้าสามารถนั่งสลับกันได้ทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจากหน้าจอสัมผัส และแผงควบคุมทางซ้ายและขวาทำงานได้เหมือนกัน
ส่วนระบบความปลอดภัยและการควบคุมใต้น้ำ บริษัทออกแบบให้มีการใช้ปีกดำน้ำควบคุมด้วยไฟฟ้าและไฮดรอลิก ซึ่งมีลักษณะคล้ายครีบอกของฉลาม พร้อมตัวลิฟต์ด้านหลัง และระบบขับดันแบบเวกเตอร์ ทั้งยังมีระบบฉุกเฉินที่สามารถทำให้ตัวเครื่องลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ หากเครื่องยนต์หยุดทำงานหรือน้ำรั่วเข้าห้องโดยสาร และระบบตั้งสมดุลในตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันว่ายานจะไม่พลิกคว่ำกลับทิศทาง
โดยปัจจุบัน เจ็ตชาร์คยังอยู่ในช่วงการพัฒนา และจะต้องได้รับการทดสอบและรับรองอีกหลายขั้นตอน ก่อนที่จะสามารถนำไปวางจำหน่ายในตลาดได้
ที่มาของรูปภาพ Jet Shark
ทั้งนี้ เจ็ตชาร์ควางแผนเปิดรับคำสั่งซื้อในช่วงต้นปี 2024 คาดว่ามีราคาเบื้องต้นอยู่ที่ระหว่าง 250,000 - 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,396,125 - 10,075,350 บาท
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Jet Shark
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67