แก่นโลกหยุดหมุนมีผลกับเราหรือไม่ ถอดรหัสงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญสายตรง !
ถอดรหัสงานวิจัยแก่นโลกหยุดหมุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว พร้อมไขคำตอบถึงผลกระทบจากข่าวที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้
"จีนพบแก่นโลกหยุดหมุน”, “แก่นโลกหยุดหมุนครั้งแรก” และอีกหลากหลายพาดหัวข่าวที่คล้ายคลึงกันทำให้เกิดความกังวลและความสงสัยว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อโลกที่เป็นพื้นที่อาศัยแห่งเดียวของมนุษยชาติอย่างไรบ้าง เพื่อไขคำตอบนี้ TNN Tech จึงได้พูดคุยกับ ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล นักวิทยาแผ่นดินไหว (Seismologist) จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแก่นโลกผ่านข้อมูลคลื่นแผ่นดินไหว ว่าแก่นโลกที่หยุดหมุนจะส่งผลต่อชีวิตมนุษย์อย่างไรบ้าง
ดร.สุทธิพงษ์ เกริ่นนำด้วยการเน้นย้ำว่าข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยงานวิจัยในปี 2013 พบว่าแท้จริงแล้วแก่นโลกเคยหยุดหมุนมาตั้งแต่ปี 2010 และเริ่มกลับมาหมุนอีกครั้งด้วยความเร็วที่ลดลงจากช่วงก่อนปี 2010
โดยพื้นฐานแล้ว ประกอบไปด้วยเปลือกโลก (Crust) แมนเทิล (Mantle) และแก่นโลก (Core) ซึ่งในแก่นโลกยังแยกชั้นออกเป็นแก่นโลกชั้นนอก (Outer Core) ที่เป็นลักษณะของไหล (Fluid) และแก่นโลกชั้นใน (Inner Core) ที่เป็นของแข็งซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวข้อข่าวนี้
การศึกษาแก่นโลกชั้นในนั้นมักกระทำโดยนักวิทยาแผ่นดินไหว (Seismologist) ที่หยิบยกข้อมูลจากแผ่นดินไหวมาประกอบกับสมบัติของคลื่น เพราะโลกที่มีหลายชั้นประกอบกัน ย่อมมีคุณสมบัติทางกายภาพต่างกันด้วย ดังนั้น คลื่นจะเดินทางผ่านแต่ละชั้นด้วยความเร็วและทิศทางต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาแผ่นดินไหวจึงสังเกตความเปลี่ยนแปลงของคลื่นแผ่นดินไหวที่เดินทางผ่านแก่นโลกชั้นในโดยใช้ช่วงเวลาที่ต่างกัน แล้วนำมาคำนวณหาความเร็วและทิศทางการเคลื่อนที่ของแก่นโลกชั้นใน
ดร.สุทธิพงษ์ ให้คำอธิบายคำว่า แก่นโลกหยุดหมุนในทางวิทยาศาสตร์นั้นมักนิยมเรียกว่าการสั่นของแก่นโลกชั้นใน (Inner Core’s Oscillation) ซึ่งหมายถึงการที่แก่นโลกชั้นในมีการเคลื่อนที่ไปมาในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งต่างจากคำว่าหมุน (Rotation) ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนที่รอบแกนบางสิ่ง
โดยงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับซึ่งนำโดยกลุ่มนักวิจัยจากออสเตรเลียก่อนหน้านี้ระบุช่วงเวลาหรือคาบการสั่นอยู่ที่ 20 ปี ซึ่งต่างจากวิจัยล่าสุดที่เป็นข่าวจากกลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในจีนที่ระบุว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีค่าอยู่ที่ 70 ปี
แต่ไม่ว่าจะเป็นค่าใด สิ่งที่ดร.สุทธิพงษ์มองว่างานวิจัยส่วนใหญ่ในตอนนี้ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า แก่นโลกชั้นในนั้นมีการหยุดหมุนมาหลายครั้ง และก็มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการหมุนมาอีกหลายครั้งเช่นกัน นอกจากนี้ นักวิจัยยังไม่พบผลกระทบจากการหยุดหมุนของแก่นโลกชั้นในต่อมนุษย์หรือโลกโดยรวมอีกด้วย
“มนุษย์รุ่นเราหรือว่ารุ่นก่อนหน้าเรานั้นเจอมันมาหลายรอบ ถ้ามันส่งผลจริงเราควรจะรู้ละ แต่เราไม่เคยรู้เลยว่ามันส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร” ดร.สุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายกับ TNN Tech
ที่มารูปภาพ TNN Tech/CNN
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67