มหกรรมปลดพนักงานบริษัทเทค ยุครุ่งเรืองของเทคโนโลยีจบสิ้น?
ต้นปี 2022 จนข้ามเข้าสู่ปี 2023 เป็นดั่งมหกรรมการเลิกจ้างของบริษัทเทครายใหญ่ทั่วโลก
สำหรับช่วงต้นปี 2022 จนข้ามเข้าสู่ปี 2023 หลายเดือนที่ผ่านมา เป็นเหมือนดั่งมหกรรมการเลิกจ้างของบริษัทเทครายใหญ่ทั่วโลก
ถึงตอนนี้ ทุกคนคงได้เห็นข่าวการปลดคนผ่านตามาพอสมควร โดยมีพนักงานราว 130,000 คนถูกเลิกจ้างจากบริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่
ขณะที่เหตุผลในการปลดพนักงานยังคลุมเครือ อัตราการว่างงานโดยรวมของอเมริกาอยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในช่วงศตวรรษที่ 21 และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีกำลังขับเคลื่อนมากที่สุดของสหรัฐอเมริกามานานหลายทศวรรษ
และหากดูจากรายชื่อหลาย ๆ บริษัทที่ประกาศปลดพนักงานตลอดทั้งปี 2022 นี้ ล้วนเป็นขาใหญ่ที่มีอิทธิพลในแวดวงเทคโนโลยี ที่อาจกล่าวได้ว่า หากบริษัททั้งหมดนี้รวมตัวกันพวกเขาสามารถกำหนดทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกได้ จึงกลับมาสู่คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกันแน่?
การปลดพนักงานลุกลามคล้ายโรคระบาด
ช่วงสุดสัปดาห์ก่อนนี้ อัลฟาเบ็ต (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google กำลังปลดพนักงานประมาณ 12,000 ตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าว่า มีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
การปรับลดพนักงานครั้งนี้ ทำให้อัลฟาเบ็ตมีคนลดลงไปถึง 6% ขณะที่เหตุการณ์การปลดพนักงานแพร่กระจายไปในบริษัทเทคเหมือนกับโรคระบาด โดยบริษัทอื่นอย่างเช่น เมตา (Meta) ของ (Facebook) เลิกจ้างพนักงานจำนวน 11,000 คน, แอมะซอน (Amazon) ก็ปลดพนักงานกว่า 18,000 คน เช่นกัน
อีกทั้งหลาย ๆ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ เช่น เทสลา (Tesla), ทวิตเตอร์ (Twitter) ของอีลอน มัสก์ ก็ปลดพนักงาน หรือแม้แต่ Netflix แพลตฟอร์มคอนเทนต์ยอดนิยมก็ยังประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 500 คน ขณะที่ล่าสุด ช่วงวันอังคารที่ผ่านมา อินเทล (Intel) บริษัทผู้ผลิตหน่วยประมวลผลยักษ์ใหญ่ ยืนยันจะปรับลดตำแหน่งงาน 544 ตำแหน่ง
แต่สถานการณ์โรคระบาด (จริง ๆ) คลายตัว
ยกตัวอย่างจาก Netflix และ Hulu แพลตฟอร์มสตรีมมิงชื่อดัง ที่ในช่วงโรคระบาดอย่างหนักในปี 2020 ผู้คนหยุดไปโรงหนังและเริ่มดูภาพยนตร์และรายการทีวีที่บ้านมากขึ้น แม้กระทั่ง Amazon และ Uber Eats ก็ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อของออนไลน์ที่มีมากขึ้น ขณะบริษัทต่างๆ เลิกจัดงานสังสรรค์และประชุมแบบพบหน้ากลายเป็นโอกาสของ Zoom และ Microsoft ที่ให้บริการจัดประชุมออนไลน์
จากนั้นหลายคนคาดการณ์ว่า โลกจะวิวัฒนาการเข้าสู่โลกที่ผู้คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันเป็นเรื่องปกติ (New Normal) โดยโรคระบาดเป็นเหมือนเครื่องเร่งเวลา ทำให้เทคโนโลยีในอนาคตมาถึงไว ขณะที่บริษัทเทคตอบรับด้วยการเพิ่มอัตราจ้างงานเป็นจำนวนมาก
แต่กลับกัน ข้ามมาในปี 2022 การใช้จ่ายของผู้บริโภคเข้าสู่ภาวะปกติ และชาวอเมริกันกลับมาจ่ายค่าร้านอาหาร ไปนอนโรงแรม และกลับมาเดินทางด้วยเครื่องบิน ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีมองเห็นว่ายอดรายได้ลดลง ขณะที่บริษัทเทคบางองค์กร ยอมรับว่าบริษัทพวกเขาเติบโตเร็วเกินไป
ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของบริษัท อัลฟาเบต (Alphabet) ของกูเกิลเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การปลดพนักงานออกเป็นไปอย่างยุติธรรมและมีการจัดลำดับความสำคัญ โดยตำแหน่งที่ถูกปลดมีตั้งแต่ระดับหัวหน้า พนักงานบริษัทในทีมต่าง ๆ ทั้งวิศวกรและฝ่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งพนักงานทุกคนที่โดนปลดออกจากตำแหน่งได้รับเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาล 6 เดือน และมีเงินพิเศษกรณีต้องย้ายที่อยู่ใหม่
เขายังเสริมว่า ถึงเวลาที่อัลฟาเบตต้องปรับโครงสร้างฐานต้นทุนใหม่ และจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนเพิ่มเติม
คำพูดของซันดาร์สะท้อนแนวคิดว่า AI จะเข้ามามีบทบาทในบริษัทอัลฟาเบ็ตมากขึ้น โดยล่าสุด ไมโครซอฟต์บรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเงินลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.28 แสนล้านบาท ไปยังโปรแกรม ChatGPT แชตบ็อตปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังสั่นสะเทือนโลกเทคโนโลยีอยู่ในขณะนี้
โลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงัก
สำหรับธุรกิจเกือบทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา ต่างพึ่งพากระแสเงินสดที่ยืมมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งมีข้อได้เปรียบ ตรงที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำมากเป็นพิเศษ เช่น อูเบอร์ (Uber) ซึ่ง สูญเสียเงินไปจำนวนมากจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น บริษัทที่ดำเนินการในรูปแบบสตาร์ตอัปเหล่านี้ วางโมเดลธุรกิจไว้เป็นการให้บริการโดยได้ผลกำไรในระยะยาว
ขณะที่ในระยะตั้งต้น พวกเขาต้องมีผลกำไรติดลบนานเป็นปี ๆ ขณะที่บริษัทสตาร์ตอัปหลายพันรายที่ต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากนักลงทุนขณะที่กำลังปลุกปั้นบริษัท กำลังขาดทุนอยู่แล้วจากโมเดลธุรกิจ และเมื่อเจอสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา พวกเขาก็ต้องแบกรับภาระหนักยิ่งขึ้น
มีรายงานออกมาว่าปีที่แล้ว มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีบริษัทใหญ่ๆ โดยรวมลดลงอย่างมาก ยกตัวอย่าง AAPL (แอปเปิล) -29% , MSFT (ไมโครซอฟต์) -28%, GOOG (กูเกิล) -39%, AMZN (แอมะซอน) -51%, TSLA (เทสลา) -69% และ META (เฟซบุ๊ก) -64% และยังมีอีกหลายบริษัทที่มีทิศทางเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งรวมกันแล้วเป็นจำนวนเงินมูลค่ามหาศาล
ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทต่างๆ จะพยายามลดต้นทุนในขณะที่ยังคงแข่งขันกันเพื่อหาลูกค้าใหม่ ขณะที่มีความต้องการการใช้งานลดลง พร้อม ๆ กับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับมรสุมหลายอย่าง ทั้งปัญหาโซ่อุปทาน (Suppy Chain) หยุดชะงัก จากการล็อกดาวน์ในแหล่งการผลิตขนาดใหญ่อย่างประเทศจีน รวมถึงปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ผลพวงจากเหตุความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงาน สินค้าราคาแพงขึ้นต่อเนื่อง กระทบไปในหลายประเทศทั่วโลก
ธนาคารกลางหลายแห่งต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และเมื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ในปี 2023 จากสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มเทคโนโลยี
คลื่นลมปัจจุบันยังไม่สงบ
แน่นอนว่ายังคงเป็นไปได้ที่ตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบในช่วงปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐพยายามลดอัตราเงินเฟ้อลงอีก โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผู้บริหารไมโครซอฟท์ออกมาพูดคุยกับนักวิเคราะห์ว่า คาดว่าสถานการณ์ธุรกิจที่ผันผวนของปลายปีก่อน อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการกลุ่มธุรกิจบริการด้านซอฟต์แวร์ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้
สถานการณ์ปัจจุบันของไมโครซอฟต์ การสมัครใช้งานซอฟต์แวร์ Microsoft 365, บริการข้อมูลส่วนตัว และการรักษาความปลอดภัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ Windows สำหรับภาคธุรกิจนั้น มียอดอัตราการใช้งานต่ำที่บริษัทตั้งเป้าไว้ รวมถึงการให้บริการคลาวด์ของ Azure ก็ไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่เอมี ฮูด (Amy Hood) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Microsoft คาดว่าจะมีการชะลอตัวอีก 4-5 จุดในไตรมาสปัจจุบัน และน่าจะส่งผลกระทบไปจนถึงไตรมาสที่ 3 อีกด้วย
“เราคาดว่า แนวโน้มธุรกิจที่เราเห็นเมื่อช่วงสิ้นเดือนธันวาคมในปีก่อน จะดำเนินต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 3” เอมี ฮูด (Amy Hood) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Microsoft กล่าว
นักวิเคราะห์มองเป็นการปรับสมดุล
การมองว่าการปลดพนักงานเป็นการล่มสลายของบริษัทเทค อาจไม่ใช่สะท้อนสถานการณ์ที่จริง ยกตัวอย่างเช่น อัลฟาเบ็ต ของกูเกิล ที่เพิ่มจำนวนพนักงานมากกว่า 50% นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด และเพิ่มงาน 37,000 ตำแหน่งในปีที่ผ่านมา ขณะที่การปลดพนักงานออก 12,000 ตำแหน่งมีจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของการจ้างงานที่เกิดขึ้นนับแต่ช่วงโรคระบาด
ในอีกแง่หนึ่ง ยังมีบริษัทเทคบางกลุ่มที่ยังไม่อิ่มตัว ธุรกิจยังเติบโตได้เรื่อยๆ และยังต้องการคนทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม Fintech และ Cyber Security
อย่างกลุ่มธุรกิจ Fintech (เทคโนโลยีการเงิน) เติบโตมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้กับด้านการเงิน การธนาคาร รวมถึงการลงทุน ตอบโจทย์คนในยุคนี้ที่ต้องการความสะดวกสบาย ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการทำธุรกรรมต่างๆ
โดยประเทศอันดับหนึ่งของกลุ่มฟินเทค เช่น สหรัฐอเมริกามีอัตราการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 223% รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 214% ตามมาด้วยสเปน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ยังคงมองว่า มหากาพย์การเลิกจ้างครั้งนี้ ยังมีอัตราส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจโลกทั้งหมด โดยเรเชล เซเดอร์เบิร์ก (Rachel Sederberg) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Lightcast บริษัทวิเคราะห์ตลาดแรงงานกล่าวว่า “ยังไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนกในตอนนี้”
และแม้ว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของตลาดแรงงานที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจสัดส่วนเทคโนโลยี และบริษัทผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ มีอัตราจ้างงานเพียง 2% ของแรงงานทั้งหมดในเดือนธันวาคม ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการว่างงาน และการยื่นขอเงินชดเชยการว่างงานในสหรัฐฯ ยังลดลงอย่างต่อเนื่องและยังคงใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สถานการณ์นี้ยังเป็นตัวยืนยันว่าภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงดีอยู่ แม้จะมีการประกาศเลิกจ้างก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า สถานการณ์นี้คือการปรับสมดุลภายในบริษัทต่าง ๆ
“บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตขึ้นมากเกินกำลังของสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งไม่เหมือนหลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยน และพวกเขากำลังปรับตัว” เซเดอร์เบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์กล่าว
อนาคตของบริษัทเทคยังมีความหวัง
หากกล่าวโดยสรุปคือ สถานการณ์การปลดพนักงานด้านเทคโนโลยีเป็นการปรับสมดุลของกลุ่มบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ ขณะที่พนักงานในบริษัทต่าง ๆ ที่โดนปลดออกมานั้น ก็มีแนวโน้มจะถูกจ้างไปใหม่มากกว่าพนักงานสายอื่น ๆ เนื่องจากแม้ว่าบริษัทที่ไม่ใช่เทคโนโลยีก็ยังคงต้องการพนักงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอยู่ นอกจากนี้ บริษัทเทคหลายแห่งยังคงมีกำไร เช่น IBM ซึ่งมีอัตราการเติบโตของผลกำไรเพิ่มขึ้น 6.46% หรือแม้แต่ Apple ที่ยังไม่มีการปลดพนักงานออก เนื่องจากไม่มีการลงทุนในโครงการที่ใช้เงินลงทุนตั้งต้นสูง แบบหวังผลเติบโตทางธุรกิจในอนาคตเป็นจำนวนมาก
ขณะที่เดเรก ทอมป์สัน (Derek Thompson) หนึ่งในคอลัมนิสต์ ของ The Athletic เผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะประกาศหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังพัฒนาไปในระดับอัศจรรย์ ซึ่งหมายความว่า แม้บริษัทเทคโนโลยีจะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ยังมีเค้าลางของการเติบโตในอนาคต
“ไม่แน่ว่าช่วงเวลาที่สดใสของบริษัทเทคโนโลยีกำลังจะมาถึงในไม่ช้า” ทอมป์สันทิ้งท้าย
ที่มาของข้อมูล nytimes, tech, fortune
ที่มาของรูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67