QR Code สุดอร่อย ! ญี่ปุ่นพัฒนา QR Code ซ่อนในคุกกี้ สแกนข้อมูลโภชนาการได้ไม่ต้องใช้ฉลาก
ไม่รู้ว่ารสชาติจะอร่อยแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ คุกกี้เหล่านี้มี QR Code ซ่อนอยู่ภายใน ใช้สแกนข้อมูลได้จริง ลดการใช้ฉลาก และลดขยะไปได้อีกขั้น
เชื่อว่าคงมีคนไม่มากนัก ที่อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการบนห่อขนม ทำให้สุดท้ายฉลากเหล่านี้ก็กลายเป็นขยะ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า เลยคิดวิธีสร้างฉลากข้อมูลแบบใหม่ที่กินได้ โดยใช้การพิมพ์สามมิติพิมพ์ QR Code ฉลากข้อมูลซ่อนไว้ในเนื้อคุกกี้ หวังให้ผู้บริโภคสแกนอ่านได้ทันที โดยที่ไม่ต้องเพิ่มขยะให้โลก
ยามาโตะ มิยาทาเกะ (Yamato Miyatake) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อพิมพ์อาหารออกมามากมาย ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการพิมพ์สามมิติบนอาหารที่เรียกว่า อินทีเรียเคอร์ (Interiqr) มาจากคำว่า อินทีเรีย คิวอาร์ (interior QR) หรือการพิมพ์คิวอาร์โค้ดภายใน โดยทีมวิจัยระบุว่าเป็นการพิมพ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าตา หรือรสชาติของอาหารแต่อย่างใด
ส่วนที่เลือกพิมพ์คุกกี้ เนื่องจากภายในคุกกี้สามารถเว้นช่องว่าง เพื่อแทรกชั้นพิมพ์ของ QR Code ได้ และเมื่อนำคุกกี้ไปอบ ร่องรอยของ QR Code ด้านในก็ยังคงอยู่ แต่ด้านนอกจะดูเรียบเนียนเหมือนคุกกี้ธรรมดา ๆ ชิ้นหนึ่ง ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคอยากจะสแกนข้อมูลจากคุกกี้ ก็แค่เปิดไฟส่องด้านหลังคุกกี้ เพื่อให้รอย QR Code ปรากฏขึ้นเป็นเงา จากนั้นเราก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนที่มีตัวอ่าน QR Code ส่องไปยังคุกกี้ เพื่อสแกนอ่านข้อมูลได้ทันที
โดยตัว QR Code ในคุกกี้นี้ยังเลือกใส่เป็นข้อมูลโภชนาการ เช่น ส่วนผสม วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือจะปรับเป็นชุดคำสั่งการทำงานของอุปกรณ์อื่น ๆ ก็ได้ เช่น ตัวอย่างที่ทีมวิจัยได้ลองต่อยอดพิมพ์ QR Code คำสั่งให้เครื่องชงกาแฟลาเต้ เมื่อเอาคุกกี้ที่มี QR Code คำสั่ง ไปตั้งบนเครื่องชงกาแฟ ที่มีตัวอ่านคำสั่ง มันก็จะเริ่มชงกาแฟลาเต้ให้เราโดยอัตโนมัติ ซึ่งต่อไปอาจจะพัฒนาวิธีการนี้ ต่อยอดไปเป็นการพิมพ์คำสั่งใช้งานอื่น ๆ ได้ด้วย
สำหรับเทคโนโลยี QR Code มาจากคำว่า Quick Response Code เป็นชุดสัญลักษณ์แทนข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถตัวอ่านในสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่ออ่านข้อมูล หรือตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว
และถึงแม้ตอนนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ QR Code ในอาหารที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น จะยังจำกัดอยู่แค่อาหารที่ค่อนข้างโปร่งแสงเท่านั้น แต่ทีมวิจัยก็หวังว่ามันจะเป็นอีกทางเลือกให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ในการใช้งานสลากอาหารแบบใหม่ที่กินได้ เพื่อลดขยะจากการพิมพ์ฉลากบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก newatlas, gizmodo, eurekalert, kaspersky
ภาพจาก eurekalert, nerdist
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67