TNN แผ่นเสียงเล็กที่สุดในโลก เปิดฟังได้จริง แม้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม

TNN

Tech

แผ่นเสียงเล็กที่สุดในโลก เปิดฟังได้จริง แม้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม

แผ่นเสียงเล็กที่สุดในโลก เปิดฟังได้จริง แม้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม

นักวิจัยประดิษฐ์แผ่นเสียงเล็กที่สุดในโลกออกมา ด้วยเครื่องมือแกะสลักระดับนาโน

"ลาสต์ คริสต์มาส ไอ เกฟ ยู มาย ฮาร์ท" เพลงนี้อาจได้ยินคุ้นหูกันทุกปี เมื่อเทศกาลคริสต์มาสต์หวนมาเยือน ทั้งยังมีเพลงประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลายามคริสต์มาสอีกหลายเพลงให้เลือกฟัง ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดนมาร์ก (DTU) เผยโฉมแผ่นเสียงที่เล็กที่สุดในโลก ที่สลักทำนองเสียงเพลงคริสต์มาสยอดนิยมอีกเพลงหนึ่งลงไป 

โดยแผ่นเสียงชิ้นนี้ มีขนาดรัศมีวงรอบเพียง 40 ไมครอน หรือ 0.04 มิลลิเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมที่หนา 70 ไมครอนเสียอีก ตัวแผ่นเสียงทำมาจากโพลิเมอร์ขึ้นรูป แม้จะมีขนาดเล็กจิ๋ว แต่แผ่นเสียงนี้บรรจุเพลง Rockin' Around the Christmas Tree ในช่วง 25 วินาทีแรกไว้ 

สำหรับวิธีการผลิตแผ่นเสียงชิ้นนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้นาโนเฟรเซอร์ (NanoFrazor) อุปกรณ์ที่สามารถแกะสลักวัสดุออกจากชิ้นงานด้วยความที่แม่นยำในระดับไมครอน โดยนาโนเฟรเซอร์ ไม่เพียงแต่สร้างแผ่นเสียงแบบเรียบและสลักลวดลายกราฟิกที่อยู่ตรงกลางเท่านั้น แต่ยังแกะสลักร่องเกลียวที่เหมือนแผ่นเสียงจริง ๆ ลงบนพื้นผิว ทั้งยังจ่ายสัญญาณเพลงแบบสเตอริโอได้

โดยรอยสลักของแผ่นเสียงด้านข้าง (จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง) ของร่องแผ่นเสียง ส่งสัญญาณออกไปเป็นสัญญาณเสียงด้านซ้าย ในขณะที่ความลึกของร่องที่แตกต่างกันบนหน้าแผ่นเสียงหลักจะส่งสัญญาณออกไปผ่านช่องสัญญาณด้านขวา รวมกันเป็นระบบเสียงสเตอริโอ 

แน่นอนว่าแผ่นเสียงชิ้นนี้ ไม่สามารถนำไปเล่นบนเครื่องเล่นแผ่นเสียงปกติได้ เนื่องจากการเล่นแผ่นเสียงต้องใช้ไมโครสโคปพลังปรมาณู หรือใช้นาโนเฟรเซอร์พร้อมกับหัวอ่าน ซึ่งศาสตราจารย์ปีเตอร์ บ็อกกิลด์ (Peter Boggild) หัวหน้าทีมวิจัยยืนยันว่า แผ่นเสียงนี้สามารถฟังได้จริง ๆ แน่นอน

ด้านศาสตราจารย์ ทิม บูธ (Tim Booth) หนึ่งในทีมวิจัยเผยว่า การสร้างหรือตกแต่งวัตถุที่มีความแม่นยำในระดับนาโนได้ จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมโลกอนาคต 

และพวกเขายังมีแนวคิดใหม่ ๆ ว่าจะสร้างวัตถุระดับนาโนด้วยนาโนเฟรเซอร์ต่อไป โดยพวกเขาเชื่อว่าเครื่องจักรชิ้นนี้จะทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น สร้างวัตถุใหม่ ๆ ออกมาได้ดียิ่งขึ้น และพวกเขายังตั้งเป้าจะสร้างเซนเซอร์พลังแม่เหล็กที่ใช้ตรวจสอบหลอดเลือดในสมองของมนุษย์ด้วยนาโนเฟรเซอร์อีกด้วย

ที่มาของข้อมูล newatlas
ที่มาของรูปภาพ DTU Physics

ข่าวแนะนำ