รัสเซียสั่งยกเลิกสเปซวอร์ค เหตุยานอวกาศโซยุสรั่วไหล
ทีมภาคพื้นดินในกรุงมอสโกสั่งยกเลิกการทำสเปซวอร์ค (Spacewalk) เนื่องจากพบการรั่วไหลบนยานอวกาศโซยุส เอ็ม-ยี่สิบสอง (Soyuz M-22) อาจมาจากการถูกอุกกาบาตขนาดเล็กพุ่งชน
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา ทีมภาคพื้นดินของรอสคอสมอส (ROSCOSMOS) ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ได้สั่งยกเลิกการทำสเปซวอร์ค (Spacewalk) ของเซอร์เกย์ โปรโคปีเยฟ (Sergey Prokopyev) และดมิทรี เพเทลลิน (Dmitry Petelin) เนื่องจากมีการตรวจพบการรั่วไหลของสารหล่อเย็นบริเวณส่วนท้ายของยานอวกาศโซยุส เอ็ม-22 (Soyuz M-22) ที่เทียบท่าอยู่กับโมดูลรัสเวต (Rassvet) บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
สาเหตุอาจมาจากการถูกอุกกาบาตพุ่งชน
โดยขณะนี้ทีมภาคพื้นดินกำลังทำการศึกษาการรั่วไหลของสารหล่อเย็นที่เกิดขึ้น และผลกระทบที่อาจจะตามมา เพื่อทำการแก้ไขต่อไป ซึ่งทีมภาคพื้นดินกำลังสงสัยว่าตัวหม้อน้ำของยานอวกาศอาจถูกชนด้วยอุกกาบาตขนาดเล็ก จึงทำให้เกิดความเสียหาย และมีการรั่วไหลของสารหล่อเย็น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นอันตรายกับนักบินอวกาศ
ก่อนหน้านี้รอสคอสมอสเคยสั่งยกเลิกสเปซวอร์คของเซอร์เกย์ โปรโคปีเยฟและดมิทรี เพเทลลินมาแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2022 เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับระบบระบายความร้อนในชุดนักบินอวกาศ
โดยในวันที่ 21 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา ยานอวกาศโซยุส เอ็ม-22 ได้นำนักบินอวกาศจำนวน 3 คน ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ อันได้แก่ ฟรานซิสโก รูบิโอ (Francisco Rubio) นักบินอวกาศของนาซา (NASA), เซอร์เกย์ โปรโคปีเยฟและดมิทรี เพเทลลิน ซึ่งทั้ง 2 คน เป็นนักบินอวกาศของรอสคอสมอส
สเปซวอร์ค (Spacewalk) คืออะไร ?
สำหรับสเปซวอร์คหมายถึงการที่นักบินอวกาศจะต้องสวมชุดอีวีเอ (EVA หรือ Extravehicular Activity) เพื่อไปปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองด้านวิทยาศาสตร์, การซ่อมแซมยานอวกาศ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ซึ่งรัสเซียเองก็เป็นชาติแรกที่ส่งนักบินอวกาศออกไปทำสเปซวอร์คในปี 1995 นั่นก็คืออเล็กซี่ ลีโอนอฟ (Alexei Leonov)
ข้อมูลและภาพจาก NASA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67