ปิดตำนานเครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet ลำสุดท้ายออกจากโรงงานผลิต
เครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet ลำสุดท้าย ได้เดินทางออกจากโรงงานผลิตในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบให้กับสายการบิน Atlas Air
ครั้งหนึ่งเครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet เคยเห็นเครื่องบินขนส่งเชิงพาณิชย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก นับเป็นเวลากว่า 53 ปี นับจากการทดสอบบินเป็นครั้งแรก เครื่องบินรุ่นนี้ถูกผลิตออกมาทั้งสิ้นกว่า 1,574 ลำ มีฉายาว่า "ราชินีแห่งท้องฟ้า" โดยให้บริการขนส่งผู้โดยสารในสายการบินสำคัญทั่วโลก รวมไปถึงสายการบินในประเทศไทย
ล่าสุดเครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet ลำสุดท้าย ได้เดินทางออกจากโรงงานผลิตในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบินจะได้รับการทดสอบและทาสีใหม่ในโรงงานอีกแห่งก่อนส่งมอบให้กับสายการบินแอทลาส แอร์ (Atlas Air) ในปี 2023
ความสำเร็จของเครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet เริ่มต้นด้วยความล้มเหลวในการแข่งขันประมูลงานเครื่องบินขนส่งทางการทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1960 โดยเครื่อง โบอิ้ง 747 Jumbo Jet ได้แพ้การประมูลให้กับเครื่องบิน C-5A Galaxy เครื่องบินขนาดใหญ่ในกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ยังคงถูกใช้งานมาถึงปัจจุบัน ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet ได้รับการปรับแต่งให้ใช้งานเป็นเครื่องบินขนส่งเชิงพาณิชย์แทนและประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา
ตลอดระยะเวลา 53 ปี เครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet ได้รับการปรับแต่งและปรับปรุงประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องแต่ยังคงรักษารูปแบบของเครื่องบินรุ่นแรก ๆ ที่เปิดตัวเอาไว้อย่างชัดเจน เช่น บริเวณห้องโดยสารชั้น 2 ที่เป็นเอกลักษณ์ เครื่องยนต์ไอพ่นปีด้านซ้ายและขวารวมกัน 4 เครื่องยนต์ วงปีกกว้างประมาณ 59.64 เมตร ความยาว 70.66 เมตร เพดานบินสูงสุด 12.5 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 969 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในการบินเดินทางปกติจะใช้ความเร็วประมาณ 935 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น พิสัยการบินสูงสุด 12,230 กิโลเมตร
นอกจากเครื่องบินโบอิ้ง 747 Jumbo Jet ถูกใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์มันยังถูกใช้เป็นเครื่องบิน แอร์ ฟอร์ซ วัน ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมการติดตั้งเทคโนโลยีการสื่อสารและบัญชาการต่าง ๆ ในรูปแบบสายตรงจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงภารกิจขนส่งกระสวยอวกาศของนาซาในอดีตก็เคยใช้บริการเครื่องบินรุ่นนี้
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ Boeing.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67