แคลิฟอร์เนียพัฒนาถุงใส่สินค้าจากสาหร่าย นวัตกรรมล้ำค่าใต้ทะเล
สาหร่ายใต้ทะเลเป็นมากกว่าที่หลบภัยหรือเป็นอาหารของสัตว์น้ำ เพราะล่าสุดมีทีมพัฒนาจากแคลิฟอร์เนีย ที่เอาเจ้าพืชใต้น้ำนี้ ไปทำเป็นถุงที่ย่อยสลายได้ ซึ่งทำออกมาได้แข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานแทนถุงพลาสติกได้ดีเลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีการพัฒนาถุงพลาสติกใส่สินค้าที่สามารถย่อยสลายได้ แต่ถุงแต่ละชิ้น ก็ยังใช้เวลาย่อยสลายค่อนข้างนาน และอาจกลายเป็นขยะทำร้ายสัตว์ทะเล สตาร์ตอัปจากแคลิฟอร์เนียเลยแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้สาหร่ายทะเล ทำเป็นวัสดุห่อหุ้มสินค้าแบบใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สเวย์ (Sway) สตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนีย ได้ศึกษาการใช้สาหร่ายทะเลมาทำเป็นวัสดุห่อหุ้มสินค้าต่าง ๆ ที่สามารถย่อยสลายได้ ทดแทนการใช้ฟิล์มบางและถุงพลาสติก ซึ่งวัสดุแบบใหม่นี้ไม่ทำอันตรายต่อสัตว์ทะเล ลดการสร้างกรดในมหาสมุทร และสร้างรายได้ให้กับแรงงานท้องถิ่นที่อยู่ตามชายฝั่ง ส่วนเหตุผลที่เลือกสาหร่ายทะเลเป็นวัสดุหลัก เพราะว่าเป็นทรัพยากรที่ช่วยดูดซับคาร์บอน โดยสามารถดูดซับคาร์บอนต่อเอเคอร์ได้มากกว่าป่าถึง 20 เท่า เติบโตได้เร็วกว่าพืชบนบกอื่น ๆ ถึง 60 เท่า และยังย่อยสลายได้เร็ว เพาะพันธุ์ได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย
โดยปัจจุบันบริษัทยังคงอยู่ในช่วงทดลองปรับสูตรให้เหมาะสม จากการเลือกใช้สาหร่ายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อไปสู่การทดลองใช้ระยะนำร่อง ซึ่งทางบริษัทเคลมว่าผลลัพธ์ที่พัฒนาได้ตอนนี้ เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงกว่าโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Polyethylene - LDPE) ที่มักนำไปทำเป็นขวดพลาสติก ฝาขวดน้ำ หรือถุงใส่ของ และตัววัสดุที่มาจากสาหร่ายนี้ ยังสามารถทำเป็นสีใส หรือเป็นสีธรรมชาติ ที่มาจากตัวสาหร่ายเองได้ด้วย
สำหรับ สเวย์ (Sway) เป็นสตาร์ตอัปด้านวัสดุในแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยนักออกแบบจูเลีย มาร์ช (Julia Marsh) ที่ได้แรงบันดาลใจจากปัญหาวัสดุทางเลือกทดแทนพลาสติกที่มีตัวเลือกไม่มากนัก จนตั้งทีมพัฒนาหาวิธีสร้างวัสดุแทนพลาสติกแบบใหม่ และได้มาเป็นผลงานวัสดุจากสาหร่าย นวัตกรรมล้ำค่าใต้ทะเล แบบที่เราเห็นกันนี้เอง
มีสถิติที่น่าสนใจว่าในทุก ๆ วันจะมีขยะพลาสติก 8 ล้านชิ้นไหลลงสู่ท้องทะเล และยังมีการค้นพบเศษชิ้นส่วนพลาสติกนี้ทั้งบนเกาะที่ห่างไกล พื้นทะเลที่ลึกที่สุด และยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งพลาสติกส่วนหนึ่งก็ย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายเรา ดังนั้นถ้ามีวัสดุที่มาทดแทนพลาสติกได้จริง ก็จะช่วยรักษาได้ทั้งโลก และตัวเราด้วย
ข้อมูลจาก businessinsider, businesswire, swaythefuture, fastcompany
ภาพจาก swaythefuture
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67