จีนทดสอบเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลวแบบใช้งานซ้ำได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
จีนทดสอบเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลว YF-100N ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก
วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) รายงานเทคโนโลยีอวกาศของจีนได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการทดสอบเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลว YF-100N ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก รองรับภารกิจอวกาศในอนาคตที่สามารถนำจรวดกลับมาใช้งานซ้ำได้ในอนาคต
เครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลว YF-100N พัฒนาโดยสถาบันขับเคลื่อนอวกาศซีอาน (Xian Aerospace Propulsion Institute) โดยคาดว่าเครื่องยนต์จรวดรุ่นดังกล่าวมีขนาดแรงขับดัน 130 ตัน รายละเอียดที่ถูกเปิดเผยออกมาไม่ได้มากโดยข้อมูลระบุว่าเครื่องยนต์จรวดรุ่นใหม่นี้จะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในระบบขนส่งอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ของจีนโดยใช้ต้นทุนที่ลดลง
จีนมีแผนการพัฒนาเครื่องยนต์จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ภายในปี 2025 นอกจากนี้ยังต้องการทำให้ยานอวกาศทั้งหมดในภารกิจสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ภายในปี 2030 ซึ่งอาจรวมไปถึงการพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงเหลวที่สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง รวมไปถึงยานอวกาศที่สามารถเดินทางกลับโลกในลักษณะใช้ร่วมชูชีพและลงจอดคล้ายกระสวยอวกาศ
ข้อมูลเพิ่มเติมจากวารสาร Manned Spaceflight ประเทศจีนเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมระบุว่าเครื่องยนต์จรวด YF-100N จะถูกผลิตขึ้นอย่างน้อย 21 ขึ้นเครื่องยนต์ โดยในจำนวนนี้มี 7 เครื่องยนต์ จะถูกนำไปติดตั้งบนจรวด Long March 5G ขั้นตอนแรก สำหรับจรวด Long March 5G มีความสูง 90 เมตร กว้าง 5 เมตร สามารถขนส่งยานอวกาศหรือดาวเทียมน้ำหนัก 27 ตัน ไปยังวงโคจรของดวงจันทร์
ข้อมูลจากสื่อหลายแห่งในประเทศจีนกล่าวว่าจีนมีแผนการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์โดยการใช้การปล่อยจรวด Long March 5G จำนวน 2 เที่ยวบิน แบ่งออกเป็นการส่งนักบินอวกาศพร้อมยานบังคับการและการส่งยานอวกาศสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ โดยอาจมีนักบินอวกาศจีน 2-3 ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์
ที่มาของข้อมูล SCMP, CGTN
ที่มาของรูปภาพ Xian Aerospace Propulsion Institute
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67