อังกฤษเดินหน้าโครงการเก็บขยะอวกาศ ภัยเงียบจากนอกโลก !
ปัจจุบันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ก็ทำให้เราส่งจรวดและดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศบ่อยขึ้น ทำให้ขยะอวกาศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีโครงการเก็บขยะนอกโลก เพื่อป้องกันขยะอวกาศที่อาจเป็นอันตรายต่อโลกได้ในอนาคต
นับตั้งแต่มนุษย์เราสามารถส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อวกาศก็ไม่เคยได้หยุดนิ่ง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การแข่งขันส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศของบรรดาบริษัทต่าง ๆ เติบโตขึ้น รวมถึงความก้าวหน้าของโครงการสำรวจอวกาศที่ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็นำไปสู่ปัญหาการทิ้งขยะไว้บนอวกาศจำนวนมาก ซึ่งขยะเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเศษซากที่โคจรอยู่รอบโลก และอาจสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมหรือสถานีอวกาศได้
"ขยะอวกาศ" ผลงานสรรค์สร้างจากฝีมือมนุษย์
ขยะอวกาศ ก็คือชิ้นส่วนขยะต่าง ๆ ที่ลอยอยู่นอกโลก เช่น ดาวเทียม จรวดส่วนที่ไม่ใช้ ชิ้นส่วนยานที่ถูกทิ้ง หรือแม้กระทั่งเศษสีที่หลุดลอกออกมาจากดาวเทียมต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าบนอวกาศมีเศษซากขยะกว่า 30,000 ชิ้นที่ลอยอยู่ และเศษขยะเหล่านี้ เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 25,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่บริเวณ ณ วงโคจรต่ำของโลก ด้วยความเร็วระดับนี้ก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะชนดาวเทียมดวงอื่น หรือแม้แต่สถานีอวกาศได้
เพื่อแก้ปัญหานี้ องค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ (ESA) จึงได้ร่วมกับบริษัท เคลียร์สเปซ (Clearspace) ในประเทศอังกฤษ พัฒนายานเก็บขยะอวกาศ เพื่อใช้สำหรับภารกิจ เคลียร์สเปซ-วัน (Clearspace-1) ภารกิจที่จะส่งยานขึ้นไปกำจัดขยะบนอวกาศในเร็ว ๆ นี้ โดยยานอวกาศที่ใช้ จะมีลักษณะคล้ายกับดาวเทียม ขนาดใกล้เคียงกับตู้เย็นขนาดเล็ก ซึ่งตัวยานจะติดตั้งแขนคีบคล้ายขาแมงมุม สำหรับหยิบจับและเคลื่อนย้ายขยะอวกาศไปในทิศทางต่าง ๆ
โครงการนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2019 องค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ (ESA) เคยมอบหมายให้เคลียร์สเปซ ทดลองทำภารกิจเก็บขยะขององค์การ ESA เอง ออกจากชั้นวงโคจรมาแล้ว ซึ่งเป็นการทดสอบใช้ยานย้ายขยะอวกาศไปอยู่บริเวณชั้นวงโครจรต่ำของโลก เพื่อให้มันเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก
เตรียมตัวสำหรับภารกิจเก็บขยะอวกาศครั้งใหม่
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวภารกิจการเก็บขยะอวกาศครั้งใหม่ ภายในปี 2026 สำหรับเก็บกู้ดาวเทียม 2 ชิ้นของสหราชอาณาจักร ซึ่งถ้าสำเร็จก็อาจจะต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์แบบใหม่ที่สามารถเก็บหรือกำจัดขยะอวกาศได้หลากหลายมากย่ิงขึ่น
ปัญหาขยะอวกาศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสนใจกันมากขึ้น อย่างที่ครั้งหนึ่งในปี 2009 เคยเกิดเหตุการณ์ดาวเทียมคอสมอส ชนกับดาวเทียมอิริเดียม จนทำให้เกิดเศษซากขยะกว่า 2,000 ชิ้นกระจายไปทั่วอวกาศ ดังนั้นการจัดการกับขยะเหล่านี้ ก็เป็นความพยายามที่น่าสนใจในการป้องกันอันตรายจากการชนกัน และยังเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมนอกโลกอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
nbcnews
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67