อิฐมวลเบาจากแกนกัญชง ทางเลือกของคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เฮมพ์กรีต (Hempcrete) คือ วัสดุก่อสร้างชีวภาพ ที่มีแกนและเส้นใยของต้นกัญชงเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยมีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาทั่วโลก ว่าเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีน้ำหนักเบา สามารถนำมาใช้แทนอิฐมวลเบาในการงานก่อสร้างได้
หลังประเทศไทยปลดล็อคกัญชาและกัญชงออกจากยาเสพติด วงการแพทย์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่สายงานก่อสร้าง ก็เริ่มพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีส่วนประกอบของกัญชงและกัญชาออกมาให้เห็นกันเรื่อย ๆ "อิฐมวลเบาจากกัญชง" ก็เป็นอีกนวัตกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
"เฮมพ์กรีต" คืออะไร ?
เฮมพ์กรีต (Hempcrete) คือ วัสดุก่อสร้างชีวภาพ ที่มีแกนและเส้นใยของต้นกัญชงเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยมีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาทั่วโลก ว่าเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีน้ำหนักเบา สามารถนำมาใช้แทนอิฐมวลเบาในการงานก่อสร้างได้ และด้วยคุณสมบัติสำคัญของแกนต้นกัญชง ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ใช่อาหารของปลวกและแมลง ไม่ลามไฟ อีกทั้งยังระบายความร้อนได้ดี จึงนิยมนำไปใช้ทำวัสดุก่อผนัง วัสดุเทพื้น วัสดุโครงสร้าง หรือแม้แต่งานฉนวน โดยสามารถดูดซับกลิ่น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ดี ส่วนเนื้อผิวที่สวยงาม ร่วมสมัย ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจ ของ เฮมพ์กรีต หรือ แกนต้นกัญชง
แกนต้นกัญชง ถือเป็นของเสียที่จะเหลือทิ้งในแปลงปลูกหรือเหลือทิ้งในสถานประกอบการ โดยตอนนี้มันถือเป็นขยะชีวภาพที่มีมูลค่าสูงจากคุณสมบัติเฉพาะตัว ที่ทั้งน้ำหนักเบา มีความเหนียว ไม่ค่อยขึ้นรา แล้วก็เป็นคาร์บอนเครดิต คือสามารถที่จะมาเพิ่มมูลค่าได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น รวมไปถึงในเรื่องของการโชว์เนื้อผิว เวลาเราขัดขึ้นรูป สามารถดึงเนื้อผิวมาใช้เป็นลวดลายเพื่อความสวยงามในการตกแต่งอาคารได้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเฮมพ์กรีดจะมีงานวิจัยรับรองจากนานาชาติว่า แข็งแรงทนทาน เพียงพอต่อการกระแทกและแรงกดอัด แต่ก็อาจจะยังไม่ถึงขั้นนำไปใช้เป็นโครงสร้างอาคารที่ต้องรับน้ำหนักหลาย ๆ ชั้นได้
"เฮมพ์กรีต" ในประเทศไทย
จากนโยบายปลดล็อกของภาครัฐ ทำให้กระแสความนิยม การนำ เฮมพ์กรีต มาใช้เป็นวัสดุหลักเริ่มเป็นที่สนใจของสายงานก่อสร้าง การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยมากขึ้น ตามรอยประเทศแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และ ออสเตรเลีย ที่นำวัสดุทางเลือกชนิดนี้ ไปเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสร้างบ้านรักโลก
ตัวอย่างเช่น สองสถาปนิก ‘ราเชล เบเว่น’ และ ‘เกรนน์ โฮเวลส์’ ที่มักจะใช้เฮมพ์กรีตเป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้านหรูตามเขตชนบทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ดูกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ถ่ายเทอากาศได้ดี ทำให้บ้านไม่ร้อน ราวกับเป็น ‘บ้านที่มีลมหายใจ’
โดย ณ ปัจจุบัน มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. เฮมป์กรีต กำลังรอประกาศใช้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมในปลายปี 2565 นี้ อย่างไรก็ดี หากผู้ที่สนใจต้องการใช้เฮมพ์กรีต มาก่อ ฉาบหรือ ตกแต่ง ก็ยังสามารถนำไปใช้ได้ เพราะ ก่อนจะนำไปใช้งาน จะมีการทดสอบมาตรฐานการรับกำลัง หากผ่านเกณฑ์ ถึงจะทำไปใช้งาน เป็นวัสดุทางเลือก แทนอิฐมอญ หรืออิฐมวลเบา ที่ขายตามร้านวัสดุก่อสร้างได้
อิฐมวลเบาจากกัญชง
อิฐมวลเบาจากกัญชง เป็นนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีระดับโลก SDG International Innovation Award & Expo ปี 2022 โดดเด่นด้วยการเป็นเฮมพ์กรีตที่เกาะตัวเร็วและแข็งแรง ใช้เวลาเพียง 40-60 นาที แต่ยังคงความแข็งแรง ทนแรงอัด และทำได้ตามมาตรฐาน
อิฐมวลเบาจากกัญชง ผลิตขึ้นโดยการนำแกนกัญชงไปบดให้มีขนาดที่เหมาะสม จากนั้น นำแกนกัญชงที่บดแล้วเทลงกระบะที่มีปูนผสมน้ำไว้ โดยเคล็ดลับสำคัญของการผลิตอยู่ที่ การเทปูนปลาสเตอร์ลงไปปสมด้วย เพราะปูนปลาสเตอร์ คือ สิ่งที่ทำให้เฮมพ์กรีตแข็งตัวได้เร็ว เมื่อเทแล้ว ก็กวนให้เข้ากัน สุดท้ายก็เทลงในแบบหล่อ ตามที่ต้องการ รอเวลาให้ได้ที่ แกะแบบออกจะกลายเป็นเฮมพ์กรีต วัสดุก่อสร้างชีวภาพ เพื่อสิ่งแวดล้อมและมีลวดลายสวยงาม
อย่างไรก็ตามปัญหาของอิฐมวลเบาจากกัญชงในตอนนี้คือต้นทุนในการผลิต ที่แพงกว่าอิฐมวลเบาทั่วไปถึง 2 เท่า (ประมาณ 40 - 50 บาท โดยอิฐมวลเบาทั่วไปมีราคาอยู่ที่ประมาณ 17 - 18 บาทเท่านั้น) ในอนาคตต้นทุนของแกนกัญชงจะลดลงมาก เพราะคนปลูกเยอะขึ้น นั่นมีโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนของตัวเฮมพ์กรีตกับอิฐมวลเบาในอนาคตจะเท่ากันหรือต่ำกว่า แต่ถึงตอนนี้จะยังมีราคาที่สูงกว่า เฮมพ์กรีตก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะราคาที่จ่ายนั้น แลกกับความสวยงามและความรักษ์โลก ก็ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67