การชนของ DART ทิ้งเศษซากยาวกว่า 6,000 ไมล์
นักดาราศาสตร์พบ การชนของยานอวกาศดาร์ท (DART) กับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัส (Dimorphos) ทิ้งเศษซากยาวกว่า 6,000 ไมล์
นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินของซอลร์ (Southern Astrophysical Research หรือ SOAR) ในประเทศชิลี สังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัส (Dimorphos) หลังถูกชนโดยยานอวกาศดาร์ท (DART) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2022
ภารกิจเพื่อปกป้องโลก
โดยภารกิจดาร์ท (DART Mission) เป็นภารกิจทดสอบเบี่ยงเบนเส้นทางวงโคจรดาวเคราะห์น้อยของนาซา (NASA) เพื่อนำข้อมูลและวิธีการที่ได้มาปรับใช้สำหรับปกป้องโลกจากการถูกพุ่งชนด้วยดาวเคราะห์น้อย เป็นภารกิจที่มีมูลค่า 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท
ทางยาวของเศษซากคล้ายดาวหาง
ซึ่งพบว่าการชนของยานอวกาศดาร์ทส่งผลให้เกิดเศษซากเป็นทางยาวกว่า 6,000 ไมล์ หรือประมาณ 10,000 กิโลเมตร โดยมีปัจจัยร่วมกับแรงดันจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ที่ได้ผลักเศษซากออกไป ทำให้เกิดเป็นทางยาวคล้ายทางยาวของดาวหาง
โดยนักดาราศาสตร์ให้ความเห็นว่าทางยาวนี้มีแนวโน้มจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงจุดที่กระแสฝุ่นแทบจะมองไม่เห็นจากอนุภาคปกติที่ลอยอยู่ในระบบสุริยะ
“เมื่อถึงจุดนั้น สสารก็จะเหมือนกับฝุ่นอื่นๆ ที่ลอยอยู่รอบระบบสุริยะ” - แมททิว ไนท์ (Matthew Knight) จากห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพเรือสหรัฐ ฯ (U.S. Naval Research Laboratory) กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อโลก เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัสถูกเลือกให้เป็นเป้าหมายของภารกิจดาร์ทด้วยระยะทางที่ไกลจากโลกมากพอ ทำให้ไม่เกิดอันตรายกับโลก และเป็นระยะทางที่ไม่ไกลเกินไป ทำให้สามารถส่งยานอวกาศไปได้ในเวลาที่ไม่นานจนเกินไป
หลังจากนี้นักดาราศาสตร์จะรวบรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในเครือข่าย พร้อมด้วยกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับขนาดและชนิดวัสดุของเศษซากดังกล่าว รวมถึงผลกระทบอื่น ๆ ของการชนที่เกิดกับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัส
ข้อมูลจาก news.yahoo.com
ภาพจาก noirlab.edu
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67