NASA ไม่ง้อเชื้อเพลิง เตรียมทดสอบเรือใบสุริยะความเร็วสูง
องค์การนาซา (NASA) เตรียมแล่นเรือใบสุริยะ สำหรับนำยานอวกาศออกสำรวจห้วงอวกาศลึกแบบไม่ใช้เชื้อเพลิง
สำหรับการสำรวจอวกาศในอนาคต เชื้อเพลิงอย่างออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen) และไฮโดรเจนเหลว (Liquid Hydrogen) อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อนาซา (NASA) เตรียมทดสอบการทำงานของเรือใบสุริยะความเร็วสูง ซึ่งเป็นผลงานจากบริษัท เน็กโซฟ (NeXolve) ในรัฐแอละแบมา สำหรับนำส่งยานอวกาศไปสำรวจห้วงอวกาศที่ไกลขึ้น
หลักการคล้ายเรือใบในทะเล
โดยเรือใบสุริยะลำนี้ใช้โมเมนตัมจากแสงเพื่อผลักตัวมันไปข้างหน้า ซึ่งอนุภาคแสงหรือโฟตอนที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์มีโมเมนตัมและออกแรงกระทำต่อวัตถุที่สัมผัส โดยเราจะเห็นปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนในอวกาศ เนื่องจากมันไม่มีชั้นบรรยากาศโลกมาเป็นตัวกลาง คล้ายกับการทำงานของเรือใบในทะเลที่อาศัยลมในการเคลื่อนไปข้างหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทฤษฎีดังกล่าวได้ผล ใบเรือของเรือใบสุริยะจะต้องมีความบางกว่ากระดาษเขียนทั่วไป ตั้งแต่ 40 - 100 เท่า, ใบเรือต้องมีขนาดใหญ่ และต้องทำจากวัสดุสะท้อนแสง
การทดสอบในภารกิจอาร์เทมิส 1
สำหรับการทดสอบ มันจะถูกบรรจุไว้ในดาวเทียมขนาดเล็ก และถูกส่งขึ้นสู่อวกาศพร้อมกับดาวเทียมดวงอื่น รวมไปถึงยานอวกาศโอไรออน (Orion) ในภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) ด้วยจรวดเอสแอลเอส (SLS) เพื่อให้เรือใบสุริยะไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กใกล้โลก
เมื่อใบเรือคลี่ออกจากดาวเทียมดังกล่าว จะมีขนาด 86 ตารางเมตร เทียบเท่ากับด้านหนึ่งของสนามวอลเลย์บอลโดยประมาณ ซึ่งวัสดุทำจากซีพี 1 (CP1 หรือ Colorless Polyimide 1) ที่ได้รับการพัฒนาและจดสิทธิบัตรเป็นของบริษัทเน็กโซฟ และเคลือบด้วยสารสะท้อนแสง มีความหนาเพียง 2.5 ไมครอน หรือ 0.0025 มิลลิเมตร
“เรือใบสุริยะสามารถบรรลุความเร็วสูงมากได้ และลดเวลาการเดินทางสำหรับภารกิจไปยังจุดหมายปลายทางที่ห่างไกลจากโลก” - จิม มัวร์ (Jim Moore) ประธานบริษัท เน็กโซฟกล่าว
ซึ่งในอนาคต นาซาอาจนำเรือใบสุริยะนี้มาปรับใช้กับภารกิจสำรวจดาวอังคาร
ข้อมูลจาก www.dezeen.com
ภาพจาก www.nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67