TNN สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม

TNN

Tech

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม

ช่วงนี้หลายประเทศเจอกับคลื่นความร้อนสูง รวมถึงอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติ เลยจะพาไปดูการแก้ปัญหาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ใช้เครื่องบินสร้างฝนเทียม หวังเพิ่มอัตราการเกิดฝนและเพิ่มปริมาณน้ำในประเทศ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หนึ่งในประเทศแถบตะวันออกกลางที่ได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในบริเวณที่ร้อนและแห้งแล้งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เผยโครงการใช้เครื่องบินสร้างฝนเทียม หวังแก้ปัญหาภัยแล้งครั้งใหญ่ และช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำใช้ในประเทศ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม ภาพจากรอยเตอร์

 จากข้อมูลของสื่อรอยเตอร์ระบุว่า โดยปกติแล้ว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะมีปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ยไม่เกิน 100 มิลลิเมตรต่อปี และด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเติบโตของการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องหาวิธีผลิตน้ำเพิ่ม จนออกมาเป็นโครงการเพาะเมฆและเพิ่มปริมาณน้ำฝน ด้วยการใช้หลักการ "Cloud Seeding" หรือการสร้างฝนเทียมเข้าช่วย 


สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม ภาพจากรอยเตอร์

 ซึ่งจะใช้ระบบประมวลผล สแกนแผนที่สภาพอากาศบนจอคอมพิวเตอร์ หาการก่อตัวของเมฆ จากนั้นจึงส่งนักบินขับเครื่องบินเทอร์โบคู่ ซึ่งติดตั้งถังใส่อนุภาคนาโนของเกลือและสารดูดความชื้นหลายสิบถังบริเวณปีก บินขึ้นเหนือพื้นที่ดังกล่าว และเมื่อบินขึ้นถึงระดับความสูง 9,000 ฟุต หรือประมาณ 2.7 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ก็จะปล่อยอนุภาคที่ผสมไว้ เข้าไปในเมฆเพื่อกระตุ้นและเร่งกระบวนการควบแน่น และหวังว่าจะกระตุ้นให้เกิดฝนตกได้นั่นเอง


สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม ภาพจากรอยเตอร์

อับดุลลา อัล ฮามมาดิ (Abullah al-Hammadi) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า การทำฝนเทียม จะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดฝนได้มากถึง 10-30% อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตน้ำจากโรงกลั่นน้ำทะเล


สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม ภาพจากรอยเตอร์

 ส่วนคำถามที่ว่าการใช้เครื่องบินแบบนี้จะปล่อยมลพิษสู่อากาศ รวมถึงการใช้สารเคมีสร้างฝน จะก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่? เอ็ดเวิร์ด เกรแฮม (Edward Graham) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยไฮแลนด์ และหมู่เกาะในอังกฤษ กล่าวว่า เกลือที่ใช้ในกระบวนการไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และเครื่องบินก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า เมื่อเทียบเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่รวมถึงการใช้งานรถยนต์หลายพันล้านคันทั่วโลก ดังนั้นมองว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่คุ้มค่า


สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการบินทำฝนเทียม ภาพจากรอยเตอร์

นอกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ก็ได้ประกาศแผนที่คล้ายกัน เพื่อต่อสู้กับสภาวะภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อาจจะย้ำเตือนให้เราเห็นถึงภัยของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก

reuters


ข่าวแนะนำ