TNN ควอนตัมมาแน่! แค่ต้องปั้นคนเพิ่มให้ทัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ภาคโลจิสติกส์ได้ใช้ก่อนใคร

TNN

Tech

ควอนตัมมาแน่! แค่ต้องปั้นคนเพิ่มให้ทัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ภาคโลจิสติกส์ได้ใช้ก่อนใคร

ควอนตัมมาแน่! แค่ต้องปั้นคนเพิ่มให้ทัน ผู้เชี่ยวชาญชี้ภาคโลจิสติกส์ได้ใช้ก่อนใคร

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้ก่อตั้ง QTFT ถึงการใช้งานและการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย

เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Technology) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา รวมไปถึงประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่คำว่า “ควอนตัม” นั้นถูกนำไปใช้ในหลายบริบทและวงการ บ้างก็ถูก บ้างก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 


เพื่อฉายภาพของควอนตัมให้ชัดเจนมากขึ้น TNN Tech จะพาไปเปิดมุมมอง ว่าทิศทางการเติบโตและการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทยเป็นอย่างไร ผ่านสัมภาษณ์พิเศษ ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้ก่อตั้ง QTFT (Quantum Technology Foundation (Thailand)) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านควอนตัม ที่ได้ขึ้นบรรยายในงาน Techsauce Global Summit 2022 งานประชุมเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 26 - 27 สิงหาคมที่ผ่านมา


เทคโนโลยีควอนตัมคือการนำความรู้ฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้


คำถามที่ถูกถามมากที่สุดคำถามหนึ่งสำหรับคนทั่วไป ดร.จิรวัฒน์ ให้คำอธิบายว่าควอนตัม คือ สาขาวิชาหนึ่งของฟิสิกส์ เป็นการศึกษาสิ่งที่เล็กและเย็น เล็กในระดับ 1 ส่วน 20 ของความกว้างเส้นผม ที่อนุภาคซึ่งเล็กขนาดนั้น จะพบปรากฏการณ์ที่ประหลาดซึ่งไม่รู้ที่มา แต่เกิดขึ้นจริง เช่น การทะลุข้ามสิ่งกีดขวางได้ การสื่อสารระหว่างอะตอม 2 ตัว ที่อยู่ห่างไกลกัน ดังนั้น เทคโนโลยีควอนตัมคือการนำเอาคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร การประมวลผล และการทำระบบตรวจจับ (Sensor) ต่าง ๆ


ดร.จิรวัฒน์ มองว่าการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทยนั้นเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงแล้ว โดยเริ่มจากภาคบริการการเงิน โดยดร.จิรวัฒน์ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ในการประมวลผลเพื่อการบริหารจัดการหนี้เสียของบริษัทการเงินให้ลดลง การนำระบบการคำนวณเชิงควอนตัม (Quantum Computing) เข้าไปสู่การจัดสรรเที่ยวบินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ประยุกต์ใช้กับการจัดการภาคโลจิสติกส์ให้ลดปริมาณการใช้รถและน้ำมัน แต่ยังคงสามารถส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย


ไทยไม่ได้ตกขบวนควอนตัม แต่ต้องการคนเพื่อศึกษาและเชื่อมโยง


ดร.จิรวัฒน์มองว่าการศึกษาด้านควอนตัมในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นช้าไปพอสมควร เมื่อเทียบกันกับการศึกษาในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ศึกษามามากกว่า 10 ปี (ดร.จิรวัฒน์จบการศึกษาปริญญาเอกด้านควอนตัมฟิสิกส์ที่สิงคโปร์) ประเทศไทยนั้นถึงแม้ว่าจะได้ทุนและการดำเนินงานจากกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มาช่วยผลักดันในช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นรองในเรื่องของการวิจัยภาคการศึกษาอยู่ดี อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่าคือการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดในเชิงพาณิชย์


ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้การนำมาใช้งานในไทยนั้นยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเกิดจากขาดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ดร.จิรวัฒน์มองว่าการจัดการให้มีการพบปะพูดคุยถึงทิศทางการค้นคว้าวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจะช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อยอดทางเทคโนโลยีควอนตัม และในความเป็นจริง ผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านควอนตัมทั่วโลกซึ่งมักจบปริญญาเอกเป็นส่วนใหญ่ล้วนกำลังเป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจากภาคการศึกษา สถาบันต่าง ๆ ตลอดจนธุรกิจทั้งรายใหญ่และสตาร์ตอัป 


ดังนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้ตกขบวนเทคโนโลยีควอนตัมแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องมีการเชื่อมโยงการวิจัยและการใช้งานเข้าหากันด้วยผู้ที่มีความสามารถจากทั้งสองฝั่งที่เห็นศักยภาพของอีกฝ่าย ดร.จิรวัฒน์ยังเชื่ออีกด้วยว่าประเทศไทยนอกจากจะไม่ได้ตามหลังประเทศอื่น ๆ ในด้านเทคโนโลยีควอนตัม แต่ยังนำหน้าประเทศอื่น ๆ ในหลากหลายด้านอีกด้วย โดยยกตัวอย่างการใช้งานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งด้านการเงิน การบิน โลจิสติกส์ ที่เกิดขึ้นจริงและมีใช้งานแล้วเป็นที่เรียบร้อย 


ควอนตัม แปลว่าดีขึ้น


ดร.จิรวัฒน์เชิญชวนให้คนนึกถึงควอนตัมในความหมายว่าดีขึ้น เพราะเทคโนโลยีควอนตัมจะเข้ามาทำให้ระบบการทำงานในยุคเดิมที่ทำงานแยกกันหลายกลุ่มย่อย แต่รับผิดชอบในสิ่งที่คล้ายคลึงกันหรือสิ่งเดียวกันนั้นหายไป และสร้างระบบการทำงานที่อิสระแต่สอดรับให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น “สรุปง่าย ๆ ว่าอะไรที่มันล้ำ ๆ แล้วก็ทำให้ประสิทธิภาพมันดีขึ้น” ดร.จิรวัฒน์กล่าว


เทคโนโลยีควอนตัมเป็นสิ่งที่บริษัทในต่างประเทศให้ความสนใจและนำมาใช้อย่างจริงและเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทย ซึ่งดร.จิรวัฒน์มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่าบริษัทในไทยแม้ว่าจะยังไม่ได้นำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ แต่ประเทศไทยมีศักยภาพและภาคเอกชนเองก็มีการแข่งขันที่สูงจากทั้งในและต่างประเทศ จึงมีความพร้อมที่จะปรับตัวและเปลี่ยนผ่านบริษัทตลอดจนอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ยุคควอนตัมได้เช่นกัน 


เทคโนโลยีควอนตัมมาแน่ และมาเร็วกว่าที่หลายคนคิด


หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทยอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีไปจนถึง 10 ปี ในการทำให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่ดร.จิรวัฒน์ไม่เชื่อเช่นนั้น โดยยังสำทับอีกด้วยว่าการพูดถึงคำว่าควอนตัมไม่ได้มีแค่เทคโนโลยีควอนตัม แต่ยังมีเทคโนโลยีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Inspired Technology) ที่เลียนแบบลักษณะการทำงานของเทคโนโลยีควอนตัม ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก แม้ว่าความเร็วในการประมวลผลหรือประสิทธิภาพจะยังไม่เท่ากับต้นฉบับก็ตาม และเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้ว


แม้ว่าเทคโนโลยีควอนตัมโดยตรงจะยังไม่พร้อมใช้งานในไทย ณ ตอนนี้ แต่ดร.จิรวัฒน์นั้นมองว่าความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานด้วยเช่นกัน บางอุตสาหกรรมจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 - 3 ปี แต่บางอุตสาหกรรมอาจจะใช้เวลามากกว่านั้น นอกจากนี้ยังมองว่า เมื่อยุคของการใช้งานเทคโนโลยีควอนตัมมาถึง ภาคโลจิสติกส์จะเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เพราะโลจิสติกส์หรือการขนส่งในไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เน้นการใช้รถยนต์เป็นหลัก การนำระบบประมวลผลแบบใหม่มาใช้จะลดต้นทุนและเปิดโอกาสให้ SME เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่มีระยะทางไกลขึ้นแต่มีต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้


ควอนตัมและวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด


ควอนตัมฟิสิกส์ เคยเป็นการศึกษาทฤษฎีแต่ไม่มีการนำไปใช้งาน จนมีคนปรามาสว่าเป็น “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” แต่ดร.จิรวัฒน์ให้ความเห็นว่าเป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะคำถามที่สำคัญอยู่ที่ว่างานวิจัยชิ้นนั้นมีคุณภาพหรือไม่มากกว่า หากมีคุณภาพ ก็จะสร้างทั้งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นต่อนักวิจัยไทย ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยอีกด้วย “ควอนตัมเป็นคำที่ดูแล้ววิทยาศาสตร์ เนิร์ด ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นคำที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันและก็การแข่งขันในภาคธุรกิจสูงในอนาคต” ดร.จิรวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายกับ TNN Tech




ข่าวแนะนำ