นักวิทยาศาสตร์ใช้คลื่นเสียง ตรวจสุขภาพผืนป่าแอมะซอน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้คลื่นเสียงในการตรวจสุขภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอเมซอน ที่มักเผชิญกับไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซา (NASA) ในเมืองกรีนเบลท์ รัฐแมริแลนด์ และนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) นำโดยแดเนียล แรปปาพอร์ท (Danielle Rappaport) ผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรนักลงทุนแอมะซอน (Amazon Investor Coalition) ได้ตรวจสอบสุขภาพของผืนป่าแอมะซอนด้วยคลื่นเสียง
การศึกษาทำโดยการรวบรวมข้อมูลคลื่นเสียงที่วัดจากใต้ต้นไม้ในป่าแอมะซอน และข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซท (Landsat) ซึ่งเป็นดาวเทียมที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างนาซาและกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey)
โดยข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซททำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างไทม์ไลน์ของพื้นที่ป่าแอมะซอนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ พร้อมกับกำหนดตำแหน่งที่จะวางเครื่องบันทึกเสียง
ซึ่งเมื่อนำข้อมูลคลื่นเสียงที่ได้ มาแยกตามย่านความถี่จะเผยให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยา เช่น ชนิดของนก แมลง และสัตว์อื่น ๆ โดยข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถวิเคราะห์ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเพียงอย่างเดียว
ในระหว่างทำงานวิจัยชิ้นนี้ ผู้ช่วยภาคสนามของแดเนียล แรปปาพอร์ทถึงกับลาออกเป็นการชั่วคราว เนื่องจากในช่วงเวลาตลอดระยะการศึกษา เกิดไฟป่าขึ้นในบริเวณที่ทำการศึกษามากถึง 5 ครั้ง
“ฉันทำงานกับป่าเขตร้อนมาตลอดชีวิตการทำงานของฉัน ฉันไม่เคยไปป่าที่เสียหายขนาดนี้มาก่อน มันเป็นสิ่งที่คุณได้กลิ่น ได้ยิน อยู่ทุกที่” - แดเนียล แรปปาพอร์ทกล่าวขณะเข้าไปติดตั้งเครื่องมือบันทึกคลื่นเสียงในป่าแอมะซอนส่วนที่เคยเกิดไฟไหม้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาระบบนิเวศของป่าด้วยการใช้คลื่นเสียงเป็นวิธีที่ค่อนข้างประหยัดและรวดเร็วในการประมาณระดับความหลากหลายทางชีวภาพในสภาพแวดล้อมเขตร้อนที่ซับซ้อน
ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67