Instagram ขยายฟีเจอร์ NFT ไปยังกว่า 100 ประเทศ
มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์กเตรียมขยายฟีเจอร์ NFT ของอินสตาแกรมไปกว่า 100 ประเทศ แม้จะยังไม่สามารถซื้อขาย NFT ผ่านอินสตาแกรมได้ แต่ปัจจุบันอินสตาแกรมรองรับกระเป๋าเงินดิจิทัลแล้ว
แม้ว่าตลาดเอ็นเอฟที (NFT) หรือ Non-Fungible Token กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่อินสตาแกรม (Instagram) ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มฟีเจอร์เอ็นเอฟที (NFT feature) ไปยังกว่า 100 ประเทศ ทั่วแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และอเมริกา หลังจากทำการเปิดทดลองใช้งานสำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา
สำหรับเอ็นเอฟทีนั้นก็คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ทดแทนกันไม่ได้ สามารถใช้แสดงความเป็นเจ้าของสิ่งนั้น โดยที่แก้ไข หรือปลอมแปลงไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นถูกบันทึกไว้บนระบบบล็อกเชน (Blockchain) เป็นสินทรัพย์แห่งโลกอนาคตสามารถมีไว้เพื่อการสะสม หรือต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลายรูปแบบ รวมถึงโลกเสมือนจริง (Metaverse) ที่กำลังจะเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจ
ผู้ใช้งานอินสตาแกรมสามารถรวบรวมเอ็นเอฟทีไว้ในฟีด (Feed) และข้อความของพวกเขาได้ รวมทั้งในสติกเกอร์เสมือนจริงในสตอรี่ (Story) อีกด้วย โดยผู้สร้างและนักสะสมเอ็นเอฟทีจะถูกแท็ก (Tag) โดยอัตโนมัติ สำหรับการระบุแหล่งที่มา
โดยในตอนนี้ อินสตาแกรมได้เปิดรองรับกระเป๋าเงินบุคคลที่ 3 จากคอยน์ เบส (Coinbase), แดปเปอร์ (Dapper), เรนโบว์ (Dapper), เมต้ามาส์ก (MetaMask) และทรัสท์ วอลเลต (Trust Wallet) นอกเหนือจากบล็อกเชนอีเธอเรียม (Ethereum) และโพลีกอน (Polygon) แล้ว ยังรองรับโฟลว์ (Flow) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานยังไม่สามารถซื้อขายเอ็นเอฟทีบนอินสตาแกรมได้ แต่เมต้า (Meta) ได้บอกเป็นนัยอย่างยิ่งว่ากำลังดำเนินการในตลาดซื้อขายอยู่
โดยมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอ (CEO) ของเมต้าได้ประกาศข่าวนี้ผ่านโพสบนอินสตาแกรมส่วนตัวของเขา พร้อมทั้งรูปถ่ายของเขาในวัยเด็กที่ถือไม้เบสบอล ซึ่งจะถูกนำไปทำเป็นเอ็นเอฟทีในเร็ว ๆ นี้
“เพื่อเป็นเกียรติแก่การขยายเอ็นเอฟทีที่สะสมได้ทางดิจิทัลไปยังอีก 100 ประเทศบนอินสตาแกรม และเปิดตัวการผสานรวมใหม่กับ คอยน์เบสและแดปเปอร์ ผมกำลังแบ่งปันการ์ดเบสบอลลีกเล็ก ๆ ที่กำลังจะเป็นเอ็นเอฟทีในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมีคนเพิ่งพบและส่งถึงผม... @mcomicconnect มีเรื่องราวย้อนหลังในการ์ดเบสบอลของผม”
โพสดังกล่าวมียอดผู้ถูกใจมากถึง 58,000 กว่าคน และมีผู้แสดงความคิดเห็นมากถึง 1,900 ความคิดเห็น
ข้อมูลจาก www.engadget.com
ภาพจาก www.reuters.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67